วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:16 น.

กทม-สาธารณสุข

วัคซีนไอกรน (รุ่นใหม่) นวัตกรรมเพื่อคนไทยและตลาดโลก

วันอังคาร ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2568, 21.48 น.

วัคซีนไอกรน (รุ่นใหม่) นวัตกรรมเพื่อคนไทยและตลาดโลก

 

 

นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ร่วมกันแถลงข่าววัคซีนไอกรน (รุ่นใหม่) นวัตกรรมเพื่อคนไทยและตลาดโลก ในโอกาสที่การพัฒนาและวิจัยทางคลินิกวัคซีนไอกรน (รุ่นใหม่) ประสบความสำเร็จ และได้การขึ้นทะเบียนตำรับวัคซีน โดยมี ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ และ รศ.นพ.สุรสิทธิ์ ชัยทองวงศ์วัฒนา เข้าร่วมการแถลงข่าวและร่วมเสวนาความสำเร็จในการร่วมมือพัฒนาและวิจัยทางคลินิกวัคซีนไอกรน (รุ่นใหม่) สำหรับหลายช่วงวัย ณ ห้องประชุม 302 ชั้น 3 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

โรคไอกรน (pertussis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis ซึ่งก่อให้เกิดอาการไข้สูง 

 

ไอรุนแรงในเด็กเล็กจนอาจต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตได้ อาการของโรคในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักมีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2-3 สัปดาห์ และพบว่าอาการมีความรุนแรงมากขึ้นในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง การติดต่อแพร่เชื้อโดยการไอ จามจากบุคคลที่เป็นโรคที่มีการติดเชื้อไปสู่คนที่อยู่ใกล้ชิดกันโดยเฉพาะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคไอกรนสู่ทารกที่มีความเสี่ยงสูงรวมทั้งการแพร่ไปสู่บุคคลอื่น เช่น คนในบ้าน เด็กเล็ก ในโรงเรียน คนเลี้ยงเด็ก ทหารในค่าย การให้การวินิจฉัยโรคไอกรนเป็นไปได้ยากเพราะอาการไอเรื้อรังแพทย์ไม่สามารถแยกจากการติดเชื้ออื่น ๆ ได้ต้องส่งตรวจโดยป้ายสิ่งคัดหลั่งจากลำคอส่งตรวจพีซีอาร์ซึ่งยุ่งยากและมีราคาแพง ทำให้แพทย์มักไม่ได้ให้การวินิจฉัยโรคนี้และทำให้การให้ยาต้านจุลชีพล่าช้า เป็นผลให้ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจรักษาหลายครั้ง หรือต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ในประเทศไทยพบว่าโรคไอกรนของเด็กทารกลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการฉีดวัคซีนแบบรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน 3 ครั้งในเด็กขวบปีแรก อย่างไรก็ตามรายงานโรคไอกรนในประชากรไทยน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมากคล้ายกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันอุบัติการณ์โรคไอกรนพบสูงขึ้นในทั้งเด็กโต วัยรุ่น และผู้ใหญ่ รวมทั้งมีการระบาดในบางพื้นที่เช่นในจังหวัดภาคใต้ ในโรงเรียน ซึ่งอาจเป็นผลของการที่ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในวัยเด็กเริ่มลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นการให้วัคซีนป้องกันโรคไอกรนใน สตรีตั้งครรภ์ วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคเพียงพอน่าจะเป็นทางเดียวในการลดอุบัติการณ์การเกิดโรคไอกรนในเด็กทารกซึ่งมีอัตราป่วยตายสูง และการฉีดวัคซีนแก่ประชากรยังมีผลในการลดป่วยและลดการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น 

 

 

 

 

วัคซีนป้องกันโรคไอกรนที่ใช้ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในประเทศไทยปัจจุบันมีทั้งวัคซีนแบบรวมคือ วัคซีนบาดทะยัก คอตีบและไอกรน (Tdap) ซึ่งเป็นวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ และวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ซึ่งถูกคิดค้นและผลิตโดยบริษัทในประเทศไทยซึ่งมีขบวนการผลิตวัคซีนที่แตกต่างจากวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทในยุโรปซึ่งมี 2 ชนิดคือ วัคซีนรวมโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ (Tdap (recombinant)) และวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ชนิดเดี่ยว (Recombinant acellular pertussis vaccine; ap) ซึ่งวัคซีนได้ถูกนำมาใช้ในการป้องกันโรคโดยการฉีดแก่หญิงตั้งครรภ์ในช่วงตั้งครรภ์ 20-36 สัปดาห์เพื่อการป้องกันโรคไอกรนในเด็กแรกเกิด ขณะเดียวกันการให้วัคซีนในวัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคและส่งผลลดการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น

 

 

การดำเนินการโครงการวิจัย PreBoost ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นการศึกษาการสร้างภูมิคุ้มกันโรคไอกรนและความปลอดภัยที่เกิดจากการใช้วัคซีนสูตรใหม่แบบลดขนาด (low-dose 2 microgram) ของวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ในกลุ่มประชากรทั่วไป (วัยรุ่นและผู้ใหญ่) และประชากรกลุ่มเปราะบาง (เช่น หญิงตั้งครรภ์) เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนวัคซีนสำหรับการป้องกันโรคไอกรน โดยทำการศึกษาวัคซีนสูตรใหม่แบบลดขนาด (low-dose 2 microgram) ในรูปแบบวัคซีนไอกรนชนิดเดี่ยว (Recombinant acellular pertussis vaccine; ap-2,5) และวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ (Tetanus-diphtheria-recombinant ap vaccine, Tdap-2,5) เปรียบเทียบกับวัคซีน Tdap ที่ผลิตโดยบริษัทในยุโรปและ วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์และวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ชนิดเดี่ยวขนาดปกติที่ใช้ทั่วไป โดยได้ทำการศึกษาการฉีดวัคซีนในประชากรหลายช่วงวัยได้แก่ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ พบว่าวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์สูตรใหม่แบบลดขนาด (low-dose 2 microgram) ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคไอกรนได้สูงกว่าและภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นคงอยู่นานกว่าวัคซีนแบบรวม Tdap ที่ผลิตโดยบริษัทในยุโรปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ขณะเดียวกันพบว่าวัคซีนสูตรใหม่แบบลดขนาดนี้มีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนน้อยและไม่ต่างจากวัคซีนเปรียบเทียบ ทั้งยังมีความปลอดภัยในแม่และทารกแรกเกิด 

 

ผลการศึกษาดังกล่าว นำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการป้องกันโรคไอกรนโดยใช้วัคซีนสูตรใหม่แบบลดขนาด (low-dose 2 microgram) ของวัคซีนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ซึ่งเป็นผลผลิตในประเทศแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 

 

- สตรีตั้งครรภ์ การให้วัคซีนไอกรนในสตรีขณะตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการเกิดโรคไอกรนในทารกแรกเกิดตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยให้มารดาได้สร้างภูมิคุ้มกันและส่งต่อภูมิคุ้มกันนี้ไปยังทารกในครรภ์ 

 

ทำให้ช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนอย่างเพียงพอ 

 

- กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคแก่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง

 

 

 

- กลุ่มผู้ใหญ่ วัยรุ่น และวัยเรียน ซึ่งเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคในประเทศไทย เป็นกลุ่มที่พบการระบาดของไอกรนกลับมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้โรคไอกรนในวัยรุ่นจะไม่รุนแรงเหมือนในเด็กทารก แต่วัยรุ่นสามารถส่งต่อแพร่กระจายเชื้อให้คนในครอบครัวหรือชุมชนได้ ทั้งนี้ ในการป้องกันการระบาดคนในชุมชนอย่างน้อยร้อยละ 90 ต้องมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรน ดังนั้น การให้วัคซีนป้องกันไอกรนเข็มกระตุ้นในวัยรุ่น จึงมีความสำคัญโดยการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นไอกรนในวัยรุ่น 5 เข็ม ในช่วง 5 ขวบปีแรก อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลง โดยคำแนะนำของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย จึงแนะนำให้วัยรุ่นรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในช่วงอายุ 11-12 ปี จะเป็นชนิดวัคซีนรวม (โรคคอตีบ โรคไอกรน โรคบาดทะยัก) การที่มีวัคซีนไอกรนที่ผลิตในประเทศไทย และได้รับการอนุมัติรับรองขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาของไทย และในต่างประเทศ เป็นความสำเร็จที่อาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยคาดหวังว่าแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในเด็กไทย จะมีการขยายจากการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กวัย 11-12 ปี (ประถมศึกษาชั้นปีที่ 6) จากที่มีการให้วัคซีนกระตุ้นเฉพาะ โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก จะเพิ่มเป็นวัคซีนรวมโรคคอตีบ โรคไอกรน โรคบาดทะยัก ในอนาคตต่อไป

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข