วันอังคาร ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 19:37 น.

กทม-สาธารณสุข

“ชัยชนะ”  ลุยสุราษฎร์ฯ  ชู "สวนสราญรมย์โมเดล" ต้นแบบคืนคนสู่สังคม ดึง อปท. ร่วมวงแก้ปัญหายาเสพติดเชิงรุก

วันจันทร์ ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 16.07 น.

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 21  จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายชัยชนะ เดชเดโช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ณ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โดยเน้นย้ำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการ "คืนคนคุณภาพสู่สังคม" พร้อมยกย่องโรงพยาบาลสวนสราญรมย์เป็นต้นแบบการบำบัดฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ และเน้นย้ำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสร้างระบบดูแลที่ยั่งยืน

รมช.ชัยชนะ กล่าวย้ำว่า รัฐบาลมองผู้เสพยาเสพติดเป็น "ผู้ป่วย" ที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์นำ FAST model มาใช้ในการบำบัดฟื้นฟู ซึ่งเน้นความรวดเร็วและประสิทธิภาพ ควบคู่กับแนวทาง Matrix ที่เป็นการดูแล บำบัดรักษา และฟื้นฟูระยะยาว 120 วัน แบ่งเป็น

1.บำบัดผู้ป่วยใน (Inpatient Treatment) ดูแลใกล้ชิดในโรงพยาบาล 45 วัน เพื่อถอนพิษยาและฟื้นฟูร่างกาย-จิตใจเบื้องต้น
2.บำบัดแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient Treatment) หลังจากนั้น ผู้ป่วยจะพบแพทย์และทีมสหวิชาชีพ เดือนละ 1 ครั้ง ครบ 4 เดือน เพื่อติดตามผล ให้คำปรึกษา และป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ

จากข้อมูล ผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดจากโรงพยาบาลสวนสราญรมย์มีอัตราการกลับไปประกอบอาชีพที่น่าทึ่ง โดยปี 2566-2567 อยู่ที่ร้อยละ 41.5 และ สำหรับปี 2568 (ข้อมูลปัจจุบัน) พุ่งสูงถึงร้อยละ 89.4 ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับไปทำอาชีพเดิมได้ โดยเฉพาะเกษตรกรรมและงานทั่วไป รวมถึงบางส่วนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อีกครั้ง

รมช.ชัยชนะ เน้นย้ำบทบาทสำคัญของ อปท. ในการขับเคลื่อนนโยบาย "คืนคนคุณภาพสู่สังคม" ทั้งการสนับสนุนการบำบัดฟื้นฟู การติดตามดูแลผู้ป่วยหลังออกจากสถานบำบัด และการสร้างโอกาสทางอาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติสุข

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายชัยชนะ รมช.สาธารณสุข ยังได้กล่าวถึงนโยบายและข้อสั่งการเพิ่มเติมเพื่อยกระดับงานสาธารณสุขดังนี้
1.บูรณาการความร่วมมือ สธ.-ท้องถิ่น: เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่กล้าเปิดเผยตัว จะมีการสร้าง LINE OA หรือสายด่วน
2.ดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตในพื้นที่ห่างไกล: สนับสนุนการทำงานเชิงรุกด้วย ชุดอุปกรณ์การตรวจเคลื่อนที่ และ รถโมบายคลายเครียด
3.โครงการ "Thailand Triple-P (Preschool Parenting Program)": สร้างทักษะการเลี้ยงดูเด็กช่วงปฐมวัย "เลี้ยงเก่งลูกเก่ง" ตั้งเป้าขยายผล 100,000 ครอบครัวภายในสิ้นปีนี้ และขับเคลื่อนโครงการ "วัยรุ่นติดเกราะ Bully to Buddy" สำหรับช่วงอายุ 13-15 ปี
4.ขับเคลื่อนโครงการ "มินิธัญญารักษ์": ขอความร่วมมือจาก อสม. ในการรายงานและติดตามข้อมูลผู้เสพยา จับมือกับ อปท. นำร่อง 5 แห่ง (อบต.ท่าศาลา, เทศบาลเมืองปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช; เทศบาลเมืองท่าข้าม จ.สุราษฎร์ธานี; อบต.คลองสาม จ.ปทุมธานี; อบต.เสม็ดใต้ จ.ฉะเชิงเทรา) โดยจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สธ. เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมคืนคนดีสู่สังคม รองรับรุ่นละ 100 คน พร้อมใช้ App ล้อมรักษ์ คืนคนดีสู่สังคม สำหรับรายงานผ่านระบบออนไลน์ หากบำบัดเกิน 3 ครั้งแล้วติดซ้ำ จะพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อลงโทษ และประสานกระทรวงเกษตรฯ-อุตสาหกรรม สร้างโอกาสทางอาชีพ
5.การรักษาและกำกับติดตามผู้ป่วยจิตเวช: ผลักดันระบบช่องทางออนไลน์เพื่อ ให้คำปรึกษาและคัดกรองเบื้องต้น สำหรับผู้มีความเสี่ยง (สีส้ม-สีแดง) ให้เข้ารับการรักษากับจิตแพทย์หรือนักบำบัดอย่างทันท่วงที

 
 

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข

ข่าวในหมวดกทม-สาธารณสุข