วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 15:16 น.

กทม-สาธารณสุข

อัตราหย่าร้างคนไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 แสนคู่

วันจันทร์ ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560, 13.40 น.

อัตราหย่าร้างคนไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 แสนคู่ 
 

          อัตราหย่าร้างคนไทยเพิ่มขึ้น เป็น 39% หรือกว่า 1.1 แสนคู่ กรมสุขภาพจิตแนะวิธีป้องกันสัมพันธ์แตกร้าว ยึด 5 ข้อต้องทำ 8 คำห้ามใช้ เน้นสร้างสิ่งดีๆ ร่วมกัน หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 


          วันที่ 11 ธ.ค.2560  น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพประชากร แต่จากสถิติของกระทรวงมหาดไทยปี2559พบว่า ไทยมีจำนวนครอบครัวทั้งหมด25 ล้านกว่าครัวเรือน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้จากอดีตที่เป็นครอบครัวขยายมีพ่อแม่ลูกปู่ย่า พี่น้องอยู่รวมกันลดลง เป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันเฉพาะพ่อแม่ลูกมากขึ้นทำให้ครอบครัวคนไทยยุคใหม่มีความเปราะบางขึ้นและน่าเป็นห่วงต่อปัญหาการหย่าร้างและแยกทางกันซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตของลูกตามมาด้วย และข้อมูลยังระบุว่าในปี2559มีคนไทยจดทะเบียนสมรสรวม 307,746 คู่ และมีผู้จดทะเบียนหย่าจำนวน 118,539 คู่ โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการหย่าร้างมีแนวโน้มสูงขึ้นจากร้อยละ 27 ในปี2549 เพิ่มเป็นร้อยละ39 ในปี2559
          


“ปัจจัยหนึ่งของสาเหตุของการหย่าร้างคือ การได้รับแรงกดดันจากภายนอก เช่น ความเครียดจากการทำงาน สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัมพันธภาพภายในครอบครัว โดยเฉพาะในคู่สามีภรรยาการสื่อสารเชิงบวกถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาเพราะการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมหรือที่เรียกว่าฟังแล้วปรี๊ดหู มีผลบั่นทอนจิตใจและความรู้สึก อาจทำให้เรื่องเล็กๆกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ความสัมพันธ์เปราะบางและแตกหักลงในที่สุด” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
          


น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีคำแนะนำสำหรับการใช้ชีวิตคู่ เพื่อสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและมีความสุข ให้ยึดหลักการร่วมกันสร้างกฎเหล็กในครอบครัวคือ “5 ข้อที่ต้องทำ 8 คำห้ามใช้ ” โดย5 ข้อที่ต้องทำได้แก่ 1. ร่วมกันสร้างกฎของครอบครัวที่ทุกคนยอมรับและปฏิบัติได้ 2. เมื่อมีปัญหาต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข อย่าคิดว่าเป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่ง 3. โต้เถียงกันได้ เป็นเรื่องธรรมดาของครอบครัว แต่ต้องไม่ตะคอกข่มขู่หรือยั่วโมโหอีกฝ่าย4. เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ตัวว่าเริ่มมีความโกรธเพิ่มขึ้น ให้เตือนสติตนเอง หยุดพูด เมื่อมีความพร้อมจึงกลับมาพูดกันใหม่และและ 5.เมื่อพร้อมที่จะแก้ปัญหา ควรหันหน้ามาร่วมกันปรึกษาหาทางแก้ไข และประการสำคัญต้องไม่ดูถูกความคิดของอีกฝ่าย
          

สำหรับ 8 คำพูดที่ห้ามใช้ในครอบครัว มีดังนี้ 1. คำสั่งเผด็จการ เช่น “เงียบไปเลย” “ทำอย่างนี้สิ” 2.คำพูดที่ประชดประชัน เปรียบเทียบ หรือพูดถึงปมด้อย เช่น “ก็เป็นซะแบบนี้ ถึงได้ดักดานอยู่แค่นี้”“ถ้าฉันแต่งงานกับแฟนเก่าป่านนี้คงสบายไปแล้ว” 3. คำพูดท้าทาย เช่น “ถ้าแน่จริงก็เก็บของออกไปเลย” หรือ “พูดแบบนี้ก็เลิกกันไปเลยดีกว่า” 4. คำพูดเอาชนะกัน เช่น “ที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะแกนั่นแหละ” หรือ “เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของฉัน” 5. คำพูดที่ขุดคุ้ยเรื่องเก่ามาพูดซ้ำ เช่น“บอกกี่ทีๆก็ไม่เชื่อ ครั้งที่แล้วก็แบบนี้” “อยู่กินกันมา 10 ปีไม่เห็นเธอทำอะไรสำเร็จสักอย่าง 6. คำพูดเชิงกล่าวหา กล่าวโทษ เช่น “อย่ามาอ้างว่าติดประชุม ติดเด็กน่ะสิ” 7. คำพูดหยาบคาย และ8. คำพูดล่วงเกิน เช่นพูดดูถูกเหยียดหยามบุพการีญาติพี่น้องของอีกฝ่ายซึ่งคำพูดที่กล่าวมานี้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและการกระทำ ก่อให้ความรู้สึกด้านลบ เช่น โกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย 

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข