วันจันทร์ ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567 02:21 น.

การศึกษา

พระพรหมบัณฑิตชี้หัวใจพัฒนา"มจร"คือความสามัคคี

วันศุกร์ ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561, 15.02 น.
tags : มจร

พระพรหมบัณฑิตชี้หัวใจพัฒนา"มจร"คือความสามัคคี


พระพรหมบัณฑิตรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธีรับพระบัญชาแต่งตั้งพระราชปริยัติกวีดำรงตำแหน่งอธิการบดี "มจร"รูปใหม่ แนะหลักบริหารยึดหลักธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำงานตามศักยภาพ ชี้หัวใจของการพัฒนามหาจุฬาคือความสามัคคี

 

วันศุกร์ที่ 17  สิงหาคม พ.ศ.2561 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงมีพระบัญชาให้พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม(มส) เป็นประธานในพิธีรับพระบัญชาแต่งตั้งพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ หอประชุม มวก.48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

 

พระพรหมบัณฑิต กล่าวสัมโมทนียกถาว่า ครั้งนี้ตนมาในฐานะกรรมการ มส. และอดีตอธิการบดี มจร  ถือว่าเป็นการมอบงานอธิการบดี มจร อย่างเป็นทางการ มจร ได้เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอีกครั้ง หลังจากยุคที่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นตนได้เข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีมจร และเป็นต่อเนื่องมา 5 สมัยติดต่อกัน รวม 20 ปี ตั้งแต่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ยังไม่ได้สร้าง จนปัจจุบันสร้างเสร็จสมบูรณ์ ทั้งยังมีการสร้างอาคารเรียนเพิ่มมากขึ้น 

 

ขณะที่เป็นอธิการบดี มจร ครบ 4 สมัย ตั้งใจว่าจะวางมือ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ทำให้ต้องอยู่บริหารงานอีก 1 สมัย และพอครบ 5 สมัย ก็ได้ยืนยันกับคณะกรรมการสรรหาว่า พอแล้ว ทั้งยังแถลงต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยด้วยว่า ต้องการให้บุคลากรท่านอื่นได้ขึ้นมาบริหารงานบ้าง เพราะมจร.ต้องอยู่ได้ด้วยระบบ ไม่ใช่อาศัยตัวบุคคล ซึ่งช่วงที่ตนเป็นอธิการบดีมจร. ได้วางระบบ และยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน 

 

 

คือ 1)"การมีส่วนร่วม"มหาจุฬาต้อนรับทุกกลุ่มทุกฝ่ายเพื่อการศึกษา มีบทบาทมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ โดยการเข้าไปแทรกแซงผู้บริหารระดับสูงน้อยที่สุด โดยเฉพาะวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน เราวางระบบไว้ก็ทำตามระบบ ส่วนกลางได้รับแรงบันดาลใจตอนทำงานวัดมหาธาตุ ตอนนั้นเป็นรองอธิการบดี ปรากฎว่ามาขัดแย้งเรื่องห้องทำงาน จะเปิดหน่อยงานใหม่ถามว่ามีห้องหรือไม่ มหาวิทยาลัยสงฆ์มีคนที่มีคุณภาพคนเก่งแต่ขาดเวทีแสดง อยู่วัดมหาธาตุเป็นปลาใหญ่ในน้ำตื้น จึงขออนุญาตมาสร้างมหาจุฬาที่นี่เพื่อสร้างเวทีให้คนมีฝีมือทั้งหลายได้แสดง คนถามว่าทำไมสร้างหอประชุมใหญ่ สร้างอาคารเรียนใหญ่ เป็นการสร้างเวทีให้ท่านแสดงและมีส่วนร่วม ซึ่งประธานชีพีเคยกล่าวไว้ว่า "คนเก่งทั่วโลกเป็นของชีพี" ไม่ว่าใครอยู่ที่ไหนเอามาช่วยงาน นั่นกำลังบอกว่าพระเก่งๆ คนเก่งๆ มาเป็นของมหาจุฬา แม้ว่าเราจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ขอให้มีส่วนร่วม หัวใจคือความสามัคคี เรามีคนเก่งมาก ทำอย่างไรจะให้คนเก่งมาทำงานร่วมกัน มหาจุฬาจะไปได้เอง ผู้บริหารเพียงกำหนดทิศทาง 

 

2)"โปร่งใสตรวจสอบได้" เราเป็นสมาคมใหญ่ จะตัดสินอะไรเฉพาะตนมันจะเสียพวก เพราะเขาไม่มีส่วนร่วมเขาไม่ได้รับรู้ จะทำให้เกิดความไม่มั่นใจในสุจริต ทุกอย่างต้องชี้แจงได้ตรวจสอบได้ ถือเอาเวทีที่เราสร้างระบบเอาไว้ตรวจสอบกัน เรามีคณะกรรมการเงินที่เข้มเเข็ง ด้านบริหารเรามีการบริหารงานบุคคล ด้านวิชาการเรามีสภาวิชาการ ด้านการก่อสร้าง เรามีการกำกับนโยบายและแผน จัดสรรกันไป ผู้ที่กำหนดนโยบายหลักของมหาจุฬาคือ สภามหาวิทยาลัย กำหนดวิสัยทัศน์และทิศทาง ถ้าระบบทำงานเราจะไม่ทะเลาะกัน บางอย่างต้องให้สภามหาวิทยาลัยตัดสิน 

 

3)"รับผิดชอบ" อธิการบดีมอบหมายให้รองอธิการบดีจะไม่ก้าวก่าย เพราะทุกคนเก่งมีศักยภาพ ใครรับผิดชอบต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่ถ้าผิดพลาดต้องดึงงานกลับ 4)"หลักนิติธรรม" เราเป็นองค์กรใหญ่ ตัดสินด้วยความเห็นส่วนตัวของอธิการบดีไม่มีทางอยู่รอด ถ้าท่านตัดสินไปตามกฎข้อระเบียบข้อบังคับ ไม่เลือกที่รักมักที่ชังจะไม่ทะเลาะกัน การให้รางวัลลงโทษไปตามระเบียบ ใช้หลักนิติธรรมจะรักษามหาวิทยาลัยอยู่รอด ใครจะมายุบไม่ได้เพราะเราทำตามระเบียบ ธรรมะจะรักษามหาวิทยาลัย ซึ่งสงฆ์อยู่ได้เพราะธรรมวินัย กฎหมาย และจารีต 

 

5)"ระบบคุณธรรม" ระบบนี้สร้างขึ้นอยู่ในใจ จะไม่เอาคนมาทำงานเพราะเป็นพรรคพวก ใครที่มีความรู้ความสามารถมีคุณธรรมเอามาทำงาน ส่วนตัวอาจจะเคยด่าเราแต่ก็ดึงมาทำงานเพราะเขาทำงานดี ไม่มีการจดจำอะไร เพียงบอกว่าคุณมีความสามารถคุณขึ้น แต่อาจจะใช้พรรคพวกบ้างแต่ควรเป็นเปอร์เซ็นน้อยที่สุด การคัดสรรอธิการบดีใหม่ก็ไม่เข้าไปแทรกแซง ซึ่งท่านพระมหาเถระทราบการเปลี่ยนแปลงอธิการบดีถามว่ามีการเลือกกันอย่างไร ตอบท่านว่า สภาตัดสิน ก่อนสภาตัดสินมีกรรมการสรรหา กรรมการสรรหาเขาจะตกลงกันเองว่าเพราะเขาจะอยู่ร่วมกัน แต่มหาวิทยาลัยเลือกกันมาต้องรับผิดชอบกันเอง ต้องดูแลอธิการบดีใหม่ต่อไป มีความรู้ความสามารถขึ้นแล้วพิสูจน์ด้วยฝีมือ ตำแหน่งอธิการบดีต้องไม่ผูกขาดว่าจะเป็นรูปใด คนไหนมีฝีมือก็ทำ ทำไม่ได้ก็ลงแล้วองค์กรอยู่ได้ ไม่เกี่ยวกับสำนักไหน เมื่อเลือกเเล้วต้องรับผิดชอบและดูแลกัน นี่คือ"ระบบคุณธรรมมันจะต่างจากระบบอุปถัมภ์" ระบบอุปถัมภ์คือพรรคพวก ชนะแล้วกินเรียบ ใครเป็นผู้นำคัดแต่พวกตนเองมาทำงาน แล้วคัดคนอื่นออก เราเรียกว่าระบบอุปถัมภ์ ใครเป็นใหญ่ต้องระบบคุณธรรมเท่านั่น ดีใจที่ท่านอธิการบดีรูปใหม่ให้ทุกฝ่ายได้ทำงาน แต่พวกเราต้องพิสูจน์ฝีมือ 

 

6"ประสิทธิภาพ" ประโยชน์สูงประหยัดสุด ลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนมาก จะสร้างอาคารต้องวางแผนให้ดีมิใช่ทำแล้วทุบทิ้ง จึงต้องวางแผนให้ดี งานมหาวิทยาลัยจึงต้องวางแผน บริหารจัดการจะต้องมีประสิทธิภาพ เราอย่าไปห่วงนักว่ามันแพงเพราะต้องการประสิทธิผล เรื่องบางอย่างอาจจะลงทุนเยอะแต่มีประสิทธิมาก เหมือนเราเข้าโรงพยาบาลเอกชนเพราะมันรวดเร็วเสียเงินก็ต้องยอม ในทำนองเดียวโครงการบางโครงการขอฝากไว้ เพราะเป็นหน้าตาของมหาวิทยาลัยสู่นานาชาตระดับโลก เช่น วิสาขบูชาโลก เป็นกิจกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยเป็นเวทีที่ทำให้ชาวโลกมาเรียนมหาจุฬา ในไทยนั่นมีแชมป์ระดับมหาวิทยาลัย มหาจุฬาไม่มีเวทีถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยน้องใหม่ แต่เราไซ้รโค้งขึ้นสู่นานาชาติ เราได้รับแรงกระตุ้นจากต่างประเทศจึงพัฒนาตัวเราเอง จนทำให้มหาจุฬาเป็นนาลันทาในยุคนี้ ทั่วโลกมาเรียนกับเรา เพราะเราทำวิสาขบูชาประสบความสำเร็จ มีพระไตรปิฏกฉบับสากล ถ้าไม่มีคนต้องพัฒนาคนให้เก่งในเรื่องภาษาต่างประเทศ 

 

ดังนั้นธรรมาภิบาลที่ทำมาตลอดก็หวังว่าผู้บริหารชุดต่อไปโดยเฉพาะท่านอธิการบดีรูปใหม่จะดำเนินการประสานนโยบายธรรมาภิบาลที่จะคุ้มครองรักษามหาวิทยาลัย ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ฉันใด ธรรมาภิบาลย่อมรักษามหาวิทยาลัย ฉันนั้น สิ่งที่จะฝากไว้ให้ผู้บริหารชุดใหม่คือ ธรรมาภิบาล เพื่อให้การบริหารมหาวิทยาลัยเกิดประสิทธิผลสูงสุด

หน้าแรก » การศึกษา