วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 19:44 น.

การศึกษา

"หลักสูตรสันติศึกษามจร"เตรียมมอบรางวัลสันติภาพพระโค้ชเอก

วันอังคาร ที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2561, 20.56 น.

"หลักสูตรสันติศึกษามจร"เตรียมมอบรางวัลสันติภาพพระโค้ชเอก
เปิดให้สื่อ"ไทย-เทศ"สัมภาษณ์"ทีมหมูป่า"2รอบ ตั้งอนุกก.2ชุดดูแลคำถาม-ผลประโยชน์

 

 

วันที่ 4 ก.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระรัตนมุนี,ผศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) รักษาการเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ดูแลอย่ใกล้ชิดในด้านกฎหมายและสภาพจิตใจของพระเอกพล วิสารโท หรือพระโค้ชเอก แห่งทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้พาพระเอกพลเดินทางไปที่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุทธยา เพื่อเข้าถวายสักการะพระราชปริยัติกวี อธิการบดี มจร แต่ไม่ได้เข้าสักการะเหตุผิดพลาดในการนัดเวลา

 

 

อย่างไรก็ตามในโอกาสนี้พระปราโมทย์ วาทโกวิโท พระนิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ได้นำหนังสือจากผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร มอบแก่พระเอกพลเพื่อนิมนต์เข้ารับรางวัลสันติภาพและร่วมเสวนาในงานวันสันติภาพโลกที่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 21 ก.ย.นี้  ซึ่งพระเอกพลได้ตอบรับทราบในนามส่วนตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทางหลักสูตรสันติศึกษา มจร จะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเพื่อขออนุมัติการเดินทางอย่างเป็นทางการต่อไป

 

พระปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า เป็นที่ทราบกันว่าพระโค้ชเอกได้ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในชีวิต แต่รอดปลอดมาได้ด้วยการใช้เครื่องมือของพระพุทธเจ้าคือ สติและสมาธิ พระโค้ชเอกเคยบวชเรียนจนสำเร็จการศึกษานักธรรมเอก ไม่แปลกใจที่พระโค้ชเอกจะนำเอาวิชาความรู้สมัยที่เคยบวชเรียนและเคยจำศีลในถ้ำ ไปปรับใช้สอนน้องๆ ทีมหมูป่าในขณะที่ติดอยู่ในถ้ำ ไม่ให้ตื่นตกใจ โดยการนั่งสมาธินิ่งๆ จะช่วยให้ร่างกายไม่หิวมาก จิตนิ่งสงบ ไม่ทุกข์ร้อน การฝึกทำสมาธิไม่เพียงแค่จะช่วยให้จิตสงบ มีสติ แต่ยังช่วยให้เราได้ผ่อนคลายความตึงเครียด ช่วยให้ละจากกิเลสทั้งปวง ไม่ทุกข์ร้อนกับความทุกข์รอบกาย 

 

"หลวงพี่โค้ชเอกสอนให้เด็กๆ ฝึกนั่งทำสมาธิ และให้กินน้ำที่หยดจากหินงอกหินย้อยตลอดเวลาที่ติดอยู่ในถ้ำ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการนำหลักคำสอนทางพุทธศาสนามาใช้ โดยเฉพาะในช่วงที่ชีวิตคับขัน จนนำพาให้ทุกชีวิตรอดปลอดภัยมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ต้องบอกว่า"สติสมาธิ"เป็นบ่อเกิดของปัญญา ผลของการวิจัยจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ พบว่าการฝึกนั่งสมาธิจะทำให้ร่างกายมนุษย์ ต้องการออกซิเจนน้อยลงถึง 15 % เพราะเมื่อจิตนิ่งสงบ การหายใจก็จะแผ่วเบา ส่งผลให้ร่างกายใช้พลังงานน้อยลงตามไปด้วยจึงไม่หิว และไม่ทุกข์ หรือกังวลใจใดๆ สะท้อนว่า การมีสมาธิไม่ได้ช่วยให้จิตสงบและเกิดปัญญาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรามีสติ คิดหาทางออกให้ชีวิตอยู่รอด"พระปราโมทย์ กล่าว

 


เปิดให้สื่อ"ไทย-เทศ"สัมภาษณ์"ทีมหมูป่า"2รอบ ตั้งอนุกก.2ชุดดูแลคำถาม-ผลประโยชน์

 

ขณะเดียวกันที่หอสมุดแห่งชาติ มีการประชุมคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์กรณีถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 2/2561 โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เป็นประธาน พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาล ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ กรณีถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย และนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัด วธ.ในฐานะรองประธานกรรมการคนที่ 1 น.ส.ดารุณี ธรรมโพธิ์ดล ผู้ตรวจราชการ วธ. นายศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะรองโฆษก พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

 

พล.ท. วีรชน แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์กรณีถ้ำหลวง จ.เชียงราย เพิ่มเติมอีกจำนวน 2 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยกรณีถ้ำหลวง จ.เชียงราย โดยมีตนเป็นประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ อาทิ คณะทำงานโฆษก ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ทีมสหวิชาชีพส่วนกลาง เป็นต้น ทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมของสื่อมวลชนหรือคณะผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งประเด็นคำถามที่จะสัมภาษณ์
          


โฆษกฯกล่าวต่อว่า 2.คณะอนุกรรมการดูแลสิทธิประโยชน์ผู้ประสบภัยกรณีถ้ำหลวง จ.เชียงราย โดยมี ปลัดวธ. เป็นประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงยุติธรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกไทย กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์ เป็นต้น ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ กรณีคณะผู้ปกครองผู้ประสบภัยทั้ง 12 คน และพระเอกพล วิสารโท หรือโค้ชเอกพล จันทะวงษ์ ยินดีให้คณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์กรณีถ้ำหลวง จ.เชียงราย ให้เป็นที่ปรึกษาในเรื่องดังกล่าว
          


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กำหนดการให้สัมภาษณ์ 13 หมูป่าอะคาเดมี แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มสื่อมวลชนที่จะนำเสนอข่าวและสารคดี และกลุ่มสื่อที่จะนำไปจัดสร้างภาพยนตร์ โดยได้กำหนดไว้เป็น 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงแรกในวันที่ 6 ก.ย. เวลา 13.00 -15.00 น. ณ ลานไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ สยามพารากอน ในช่วงที่สอง ในวันที่ 15-16 ก.ย. ในเวลา 14.00 น. ในพื้นที่วัดพระธาตุดอยเวา จ.เชียงราย ใช้รูปแบบการสัมภาษณ์รวม โดยสื่อมวลชนจะต้องส่งคำถามเข้ามาให้คณะอนุกรรมการคัดกรองเบื้องต้นก่อน เพื่อให้การสัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่กระทบต่อสิทธิของเด็กและสภาพจิตใจโดยรวม ซึ่งตนจะทำหน้าที่เป็นพิธีกรสัมภาษณ์เด็กและโค้ช
          


ด้านนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัด วธ. ในฐานะรองประธานกรรมการคนที่1 กล่าวว่า ในขณะนี้มีสื่อมวลชนทั้งของไทยและต่างชาติให้ความสนใจแจ้งความประสงค์ติดต่อขอสัมภาษณ์ทีมหมูป่าอะคาเดมี่จำนวนมาก โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นตรงกันให้ตระหนักถึงการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กจึงขอให้สื่อมวลชนส่งคำถามผ่านทาง เฟสบุ๊ค เพจ Content Thailand ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงเวลา 16.00 น. ของวันที่ 5 ก.ย. เพื่อให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาประเด็นคำถาม ก่อนส่งให้ พิธีกรทำการสัมภาษณ์ ทั้ง 13 ชีวิต ในวันที่ 6 ก.ย. นี้

หน้าแรก » การศึกษา