วันอังคาร ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:19 น.

การศึกษา

กรมศิลป์เปิด 12 ห้องจัดแสดงใหม่

วันพุธ ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562, 10.52 น.

กรมศิลป์เปิด  12  ห้องจัดแสดงใหม่

 

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงห้องจัดแสดง นิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และพัฒนาการจัดแสดงใหม่แล้วเสร็จ 12ห้องจัดแสดง ได้แก่ การจัดแสดงศิลปะงานช่างหลวงในส่วนอาคารหมู่พระวิมาน จำนวน 10  ห้อง และห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์อีก 2 ห้อง ในส่วนของอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ รวมเป็น 12  ห้อง ซึ่งห้องจัดแสดงนิทรรศการใหม่นี้ ออกแบบภายใต้แนวคิดหลักในการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของแท้ ของจริง แสดงคุณค่าผลงานชิ้นเอกของมนุษยชาติบนผืนแผ่นดินไทยในแต่ละยุคสมัย รักษาและแสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมภายใน  พระที่นั่งองค์ต่างๆ จัดวางวัตถุพร้อมออกแบบไฟจัดแสดงให้ผู้ชมเห็นความงาม 360  องศา มีการนำเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในการสื่อสารเนื้อหาจากตัววัตถุแก่ผู้ชมอย่างพอเหมาะ โดยไม่รบกวนการจัดแสดงความงามของวัตถุ ได้แก่ ทัชสกรีน วีดีทัศน์ และแอพพลิเคชั่น QR-Code AR-Code

ห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรใหม่ 12  ห้อง ประกอบด้วย อาคารหมู่พระวิมาน จัดแสดงนิทรรศการศิลปะไทยประเพณี ดังนี้

1. พระที่นั่งบูรพาภิมุข จัดแสดงเครื่องศัสตราวุธโบราณ ศิลปะงานช่างหลวงประเภทเครื่อง ศัสตราวุธ ประกอบด้วยอาวุธโบราณประเภทต่างๆ ที่เคยใช้ในการสงครามตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่ ตำราพิชัยสงครามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงพร้อมหุ่นจำลองการจัดกระบวนทัพแบบครุฑ ตามตำราพิชัยสงครามดังกล่าว

2 . พระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นบน) จัดแสดงเครื่องที่ประทับวังหน้า จัดวางเครื่องเรือนโบราณ ผลงานศิลปะงานช่างหลวงหลายสาขา ที่รวบรวมไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่ต้น จำลองรูปแบบและบรรยากาศพระวิมานที่ประทับในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

3 . พระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นล่าง) จัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนัก ภาชนะเครื่องถ้วยในสำรับ สำหรับราชสำนักสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

4. พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข จัดแสดงเครื่องโลหะศิลป์ ภาชนะเครื่องใช้ประเภทเครื่องโลหะศิลป์ไทย มักสร้างด้วยความประณีต เพื่อถวายพระมหากษัตริย์ ใช้เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศพระบรมวงศานุวงศ์ เครื่องยศขุนนาง และเครื่องใช้พระสงฆ์ โดยรับแรงบันดาลใจและเทคนิคงานช่างจากนานาชาติเข้ามาผสมผสานภายใต้รูปแบบศิลปะช่างไทย ได้แก่ งานถมเงิน งานถมทอง งานถมปัด งานกะไหล่ งานดุนทอง-เงิน และเครื่องบังกะลอ

5. พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข จัดแสดงเครื่องสัปคับ คือที่นั่งบนหลังช้าง พาหนะในอดีตของไทย สัปคับนี้นอกจากมีองค์ประกอบวัสดุแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ และสถานภาพผู้ใช้งานแล้ว ยังเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ จึงประกอบขึ้นด้วยงานช่างประณีตศิลป์หลากหลายสาขา

6. มุขเด็จ จัดแสดงเครื่องไม้แกะสลัก ศิลปะไม้แกะสลักชิ้นสำคัญ ได้แก่ บานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร ผลงานฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

7. พระที่นั่งอุตราภิมุข จัดแสดงอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญในนิทรรศการ  ได้แก่ ฉลองพระองค์ครุยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น

8. พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นบน) จัดแสดงเครื่องใช้ในพุทธศาสนา

9. พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นล่าง) จัดแสดงศิลปะเครื่องมุก เครื่องใช้ เครื่องเรือนประดับมุก ที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้เป็นเครื่องใช้ในพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น เครื่องมุกในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

10 . พระที่นั่งทักษิณาภิมุข จัดแสดงเครื่องมหรสพและการละเล่น อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์โบราณคดีในประเทศไทยหลัง พุทธศตวรรษที่ 18  ได้แก่  ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงศรีอยุธยา จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเอก สื่อสารเนื้อหาประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองยาวนานถึง 417  ปี ทั้งความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ความเจริญทางเศรษฐกิจในฐานะเมืองท่าการค้าของภูมิภาคเอเชีย ความรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา ก่อเกิดฝีมือช่างภายใต้ความศรัทธา สะท้อนผ่านพุทธศิลปกรรมอยุธยา อันเป็นเอกลักษณ์ เป็นรากฐานของศิลปกรรมรัตนโกสินทร์ในยุคต่อมา ซึ่งพัฒนาต่อไปเป็นศิลปะประจำชาติไทยในปัจจุบัน

ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สื่อสารประวัติศาสตร์เหตุการณ์การเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งของอาณาจักรคนไทยในนามกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ การสร้างบ้านเมืองใหม่บนรากฐานวิทยาการความรู้ ลักษณะสังคม ศิลปกรรมจากครั้งบ้านเมืองยังดี ณ กรุงเก่า หรือกรุงศรีอยุธยา ก่อร่างสังคมไทยใหม่ท่ามกลางสงครามรอบด้าน การค้าขายนานาชาติ สัมพันธไมตรีทางการค้ากับจีน อินเดีย และชาวยุโรป เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เวลา 09.00-16.00  น. ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ (ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) อัตราค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2224-1370 , 0-2224-1402

หน้าแรก » การศึกษา

ข่าวในหมวดการศึกษา