วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 09:32 น.

การศึกษา

ม.เกษตร สกลนครเก็บใบกัญชารอบแรก

วันพุธ ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 12.33 น.

ม.เกษตร สกลนครเก็บใบกัญชารอบแรก

 

ทีมงานมก.สกลนคร รายงานการเข้าเก็บเกี่ยวใบและก้านใบกัญชา ซึ่งเป็นผลิตผลรอบแรกของโครงการฯ ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อนำไปผลิตยาแผนไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 30 กิโลกรัม จากต้นกัญชา 330 ต้น ได้แก่ ส่วนใบกัญชา จะนำไปเข้าตำรับยาศุขไสยาศน์ และยาแก้ลมแก้เส้น และส่วนของก้านใบกัญชา จะนำไปเข้าตำรับยาแก้โรคจิต ซึ่งวัตถุดิบที่ได้ในวันนี้คาดว่าจะสามารถผลิตยาศุขไสยาศน์ได้ 4,000 ซอง ยาแก้ลมแก้เส้น 4,000 ซอง และยาแก้โรคจิตจำนวน 5,000 ซอง

 

ผศ.ดร.วัชรพงษ์ อินทรวงศ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาทางการแพทย์ว่า กัญชาในรอบนี้ได้ถูกวางแผนการปลูกเพื่อให้ได้วัตถุดิบสำคัญ 4 ส่วนคือ ดอก ใบ ก้านใบและราก นับตั้งแต่ย้ายปลูกต้นกล้ากัญชาเมื่อวันที่ 19 กันยายน จนถึงวันนี้รวมระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์ ต้นกัญชามีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ดี ใบและก้านใบพร้อมส่งต่อให้โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อนำไปผลิตเป็นยาแผนไทย โดยทีมงานได้เก็บข้อมูลการปลูกเพื่อถอดองค์ความรู้ที่ได้เป็นต้นแบบและคู่มือการปลูกกัญชาทางการแพทย์ตามมาตรฐาน GACP และเปิดสอนให้วิสาหกิจชุมชนในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการต่อไป

ดร.ศุภสิทธิ์ สิทธาพานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูก กล่าวว่า ใบที่ใช้เป็นใบที่มีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ ต้องเก็บรุ่งเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และได้รับความร่วมมือกับทีมงานจากโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นฯ ร่วมเก็บผลผลิตในครั้งนี้ โดยจะเก็บในส่วนใบก่อน ส่วนอื่นๆ จะดำเนินการในครั้งต่อๆไป

ดร.ณธกร ทัศนัส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาและพืชเสพติดสมุนไพรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ใบกัญชาที่ปลูกโตเร็วมาก และเก็บได้เร็วกว่าที่กำหนด 1 เดือน ซึ่งเดิมกำหนดว่าจะเก็บในเดือนมกราคม 2563

พญ.กัญญาภัค ศิลารักษ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กล่าวว่า จะนำวัตถุดิบกัญชาที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ในล๊อตแรกนี้ ซึ่งได้ทำการเก็บเกี่ยวในส่วนของใบและก้านใบ ไปคัดแยกในส่วนของใบและก้านใบเพื่อในไปเข้าตำรับยากัญชาที่โรงพยาบาลได้รับอนุญาตให้ผลิตจำนวน 3 ตำรับได้แก่ ส่วนใบ นำไปใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาศุขไสยาศน์ และยาแก้ลมแก้เส้น  และส่วนของก้านใบ จะนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาแก้โรคจิต ซึ่งวัตถุดิบที่ได้ในวันนี้คาดว่าจะสามารถผลิตยาศุขไสยาศน์ได้ 4,000 ซอง ยาแก้ลมแก้เส้น 4,000 ซอง และยาแก้โรคจิตจำนวน 5,000 ซอง

จากข้อมูลสรุปโดย ดร. เจษฎา ภัทรเลอพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสรีรวิทยาการผลิตพืชกัญชาของทีมงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร พืชกัญชามีการเจริญเติบโตที่ดี มีความสูงมากกว่า 1.50 เมตร หลังย้ายปลูก 1 เดือน คิดเป็นการเติบโตด้านความสูงเฉลี่ย วันละ 3 เซนติเมตร เคล็ดลับที่สำคัญมีดังนี้

1.การเพาะเมล็ดได้ดี โดยใช้วัสดุเพาะเป็นพีทมอส ซึ่งมีคุณสมบัติดูดน้ำได้ดี แต่มีความโปร่งและระบายน้ำดี และมีธาตุอาหารครบถ้วนในตัวเอง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้ากัญชา ทำให้เมล็ดกัญชางอก และกล้าเติบโตดี

2.การย้ายปลูกในระยะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการเพาะกล้าทำในถาดเพาะซึ่งแต่ละหลุมเพาะมีวัสดุเพาะในจำนวนจำกัด ถึงแม้วัสดุเพาะจะมีธาตุอาหารครบถ้วน แต่เมื่อต้นกล้าเติบโตขึ้นธาตุอาหารในหลุมเพาะไม่เพียงจะทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโตเมื่อย้ายปลูก และต้องใช้เวลานานกว่าต้นกล้าจะตั้งตัวได้ หรือเสี่ยงที่ต้นกล้าจะแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตอีกเลย

3.การใช้วัสดุปลูกมีความโปร่งระบายน้ำดี และมีธาตุอาหารสมบูรณ์ เลือกใช้ดินผสมปุ๋ยหมัก  โดยดินเป็นแหล่งของธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง และการใช้ปุ๋ยหมักเพื่อเป็นแหล่งของจุลธาตุ และปรับสภาพทางกายภาพให้มีความโปร่ง เนื่องกัญชาเป็นพืชไม่มีเนื้อไม้ ระบบรากไม่แข็งแรง ต้องการดินที่โปร่งระบายน้ำดี

4.การให้น้ำด้วยระบบอัตโนมัติ ให้ทีละน้อยแต่ให้บ่อยๆ ทำให้ต้นกัญชาได้รับน้ำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็รักษาระดับความชื้นของดินไม่ให้สูงเกินไป ต้นกัญชาไม่เกิดสภาวะเครียดแม้ในช่วงบ่าย จึงเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

5.การให้ปุ๋ยไปพร้อมน้ำ (Fertigation) ทำให้ต้นกัญชาได้รับปุ๋ยต่อเนื่องตลอดเวลาและเพียงพอ เนื่องจากต้นกัญชาโตเร็วมากกว่าต้นพืชทั่วๆ ไป จึงมีความต้องการธาตุอาหารมากตามไปด้วย การปลูกกัญชาในภาชนะปลูกซึ่งมีปริมาตรของวัสดุปลูกจำกัด จึงมีธาตุอาหารจำกัด การให้ปุ๋ยพร้อมกับการให้น้ำจึงช่วยเสริมให้ต้นกัญชาได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา

6.การให้แสงเสริม เพิ่มจากแสงธรรมชาติ ช่วยยืดระยะเวลาในการสร้างอาหารผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง เพิ่มการเติบโต และบังคับไม่ให้กัญชาออกดอกก่อนเวลา เนื่องจากกัญชาเป็นพืชวันสั้น หากได้รับแสงน้อยกว่า 12 ชม./วัน จะกระตุ้นการสร้างตาดอก เมื่อต้นกัญชาออกดอกจะนำอาหารที่สร้างได้มาสร้างดอกทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก

สำหรับการเก็บใบกัญชาในชุดแรกนี้เริ่มตั้งแต่เวลา 04.30 น. แล้วเสร็จเวลา 06.00 น.โดยประมาณ และส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลฝั้น อาจาโร  มีน้ำหนักรวม 30 กิโลกรัม จากต้นกัญชา 330 ต้น และคาดว่าจะเก็บผลผลิตได้ต่อไปในทุก 2 สัปดาห์

หน้าแรก » การศึกษา