วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 04:28 น.

การศึกษา

มสช. ผนึกกำลังกรมสุขภาพจิต - สสส.ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตในชุมชน เฟส 3

วันพุธ ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2568, 12.47 น.

มสช. ผนึกกำลังกรมสุขภาพจิต - สสส.ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตในชุมชน เฟส 3

 

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ผนึกกำลัง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา Kick Off Online “MINDSCAPE ร่วมสร้างชุมชนสุขภาพจิตดี” เดินหน้าขยายผล โครงการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตในชุมชน เฟส 3 มุ่งสู่ 41 ชุมชนตัวอย่างทั่วประเทศ ดันใช้ ดัชนีสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น สร้างฐานข้อมูลสุขภาพจิตคนไทยอย่างมีคุณภาพ พร้อมชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมเป็นภาคีหลัก โดย พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. และรักษาการ ผอ.สำนักสนับสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.     นพ.สันติ ลาภเบญจกุล เลขาธิการ มสช. ขณะที่นักวิชาการด้านสุขภาพจิต ตัวแทน อปท. ชุมชนพื้นที่ และนักสื่อสารสุขภาพจิต (นสช.) ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่งผ่านแอปพลิเคชันซูมเมื่อวันก่อน

 

 

 

 

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา กล่าวว่า โครงการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตในชุมชนให้กับคนไทยได้เดินหน้าทำงานเชิงรุกเข้าสู่เฟสที่ 3 แล้ว และในปี 2568 นี้จะเป็นการส่งต่องานให้กับศูนย์สุขภาพจิตและโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ไปดูแลบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ร่วมกับการขยายฐานชุมชนสุขภาพจิตต้นแบบจากที่มีอยู่ 15 ชุมชน เพิ่มขึ้นอีก 26 ชุมชน โดยเป็นการคัดเลือกชุมชนจากเขตสุขภาพทั่วประเทศทั้ง 12 เขต และ กทม.อีก 1 เขต เขตละ 2 ชุมชน รวมทั้งหมดเป็น 41 ชุมชนสุขภาพจิตต้นแบบทั่วประเทศ พร้อมผลักดันให้พื้นที่นำดัชนีสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น หรือ COMMUNITY MENTAL HEALTH INDEX ไปใช้ประเมินสุขภาพจิตคนในชุมชน เพื่อสร้างฐานข้อมูลด้านสุขภาพจิตที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทย นอกจากนี้จะมีการจัดเวทีสาธารณะระดับประเทศ และเสริมศักยภาพให้ นสช.ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจาก นสช.คือปัจจัยหลักที่นำโครงการฯ สู่ความสำเร็จรวมถึง อปท.ด้วย

 

พญ.มธุรดา กล่าวต่ออีกว่า กิจกรรมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในปีนี้หวังสร้างอิมแพคระดับประเทศในหลายมิติ เพื่อให้ 1.ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นทุกช่วงวัยมีความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต เกิดชุดคู่มือและหลักสูตรด้านสุขภาพจิตชุมชนสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย และสังคมมีความเข้าใจและยอมรับเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ลดอคติและการตีตรา 2.เกิดระบบสนับสนุนและร่วมเป็นเจ้าของในการดูแลสุขภาพจิตในชุมชน บูรณาการการใช้ทรัพยากรเพื่อดำเนินงานเชิงรุกในชุมชนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้อัตราการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น 3.เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนในระดับท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ และ 4.เกิดความร่วมมือในการนำข้อเสนอเชิงนโยบายไปขับเคลื่อนผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น

 

“ผลลัพธ์ที่ผ่านมาทั้ง 2 เฟส ในช่วงระยะเวลา 3-4 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย อปท.และผู้ว่าราชการจังหวัดหลายพื้นที่ให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว มีการนำกองทุนสุขภาพตำบลมาช่วยขับเคลื่อนขยายพื้นที่สุขภาพจิตต้นแบบ และนำแผนสุขภาพจิตใส่ไว้ในนโยบายของหน่วยงาน เป็นต้น ดังนั้นหากอยากให้คนไทยมีสุขภาพจิตดีในทุกมิติเกิดเร็วขึ้น ขยายผลทั่วทุกพื้นที่ได้เร็วขึ้น อปท.ใดที่สนใจสามารถมาจับมือร่วมกันทำงานกันได้” ผอ.รพ.ศรีธัญญา ระบุ

 

 

 

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยยังให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพจิตน้อย แต่ปัญหาดังกล่าวกลับมีผลกระทบที่ใหญ่มาก สสส.จึงมุ่งสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพจิตดีทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต และเกิดรูปธรรมในการดำเนินงาน  เช่นเดียวกับการสนับสนุนโครงการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตในชุมชน ที่ก่อให้เกิดชุดข้อมูลและองค์ความรู้สะสมที่ได้คุณภาพมาตรฐานมากมาย แถมยังสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้างานและวิถีของชุมชน สามารถนำไปใช้เป็นกลไกนโยบายขับเคลื่อนงานจนเกิดผล ที่สำคัญชุมชนเกิดการพัฒนาแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ของตนเองได้ และยังขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในลักษณะเสมือนพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งมีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปอย่างมาก

 

 

 

 

ด้าน นพ.สันติ ลาภเบญจกุล เลขาธิการ มสช. กล่าวว่า ความทุกข์ความสุขของคนเรามีรากฐานสำคัญมาจากสุขภาพจิต ถ้าสุขภาพจิตดีต่อให้มีอะไรมากระทบก็จะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ และในปัจจุบันคนทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กปฐมวัย เยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ และช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต ล้วนต้องเผชิญปัญหาสุขภาพจิตไม่มากก็น้อย เช่น ในเยาวชนจากข้อมูลพบว่าวิกฤตพอสมควร ใน 100 คน มีถึง 30 คน ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ฉะนั้นการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในแบบ Mindscape หรือสร้างพื้นที่พักใจให้กับคนไทยจึงเป็นเรื่องที่มาถูกทาง

 

ภายในงานยังมีกิจกรรมวงเสวนา “ร่วมสร้าง 4 องค์ประกอบสำคัญของชุมชนสุขภาพจิตดี” ได้แก่ ทุนทางสังคม (Social Capital) สิ่งแวดล้อมในชุมชน (Environment) ลักษณะทางสังคมประชากรของชุมชน (Sociodemographic) และ การดูแลสุขภาพจิตในชุมชน (Community Mental Health Care) ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายชาญชัย ทองสัมฤทธิ์ ผอ.สถาบันพัฒนาศักยภาพเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม มูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ หนึ่งในวิทยากรกล่าวว่า ทุนทางสังคมที่เน้นการหนุนเสริม สร้างเครือข่าย และให้ความร่วมมือ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลักดันให้การส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตในชุมชนประสบผลสำเร็จ ยกตัวอย่าง “ลิ้นจี่โมเดล” ของ รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่มีทุนทางสังคมดี ทั้งความร่วมมือร่วมใจร่วมทรัพทยากรจากทุกภาคส่วน ชาวบ้านมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นเกื้อกูล จนสามารถสร้าง นสช.ได้ถึง 140 คน ยังสามารถขยายผลโครงการฯ ไปยัง รพ.สต.อื่นจนเกือบครบใน อ.อัมพวา และหลายครั้งไม่ได้รองบประมาณจากทางภาครัฐ แต่สามารถระดมทุนจากชุมชนเพื่อพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลในพื้นที่ได้ ดังนั้นแต่ละพื้นที่ต้องเร่งสร้างทุนทางสังคมให้เข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนงานให้ประสบผล ด้วยการหาพันธมิตรที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาร่วมประเมินทุนทางสังคมในชุมชนว่าแข็งและอ่อนในจุดใด ก่อนคืนข้อมูลนี้ให้กับชุมชนไปร่วมกันทำแผนฟื้นฟูและต้องเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน จากนั้นค่อยลงมือสร้างชุมชนสุขภาพจิตดี

 

 

 

ขณะที่ นพ.พงศกร เล็งดี ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ผู้เข้าร่วมเสวนากล่าวว่า ทั้ง 4 องค์ประกอบล้วนเชื่อมโยงซึ่งกัน และการดูแลสุขภาพจิตในชุมชนเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ชุมชนต้องร่วมมือร่วมใจกันทำให้เกิดผล ที่ผ่านมาสังคมมองเรื่องสุขภาพจิตเป็นภาพแคบ มองแค่ในส่วนของงานบริการว่าต้องมีแพทย์ มีนักจิตวิทยา มีการบำบัด ประเมิน วินิจฉัย และให้ยา ถือว่าใช้ได้แล้ว แต่นั่นเป็นการพึ่งพานักวิชาชีพมากเกินไป ยิ่งใน รพ.สต.ที่ไม่สามารถมีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชได้ครบ ฉะนั้นการจะไปถึงชุมชนสุขภาพจิตดีตลอดช่วงชีวิตจึงเป็นการค้นหา Gatekeeper ในพื้นที่ ที่จะมาเป็นตัวเชื่อมช่วยดูแลป้องกันประชากรแต่ละกลุ่มช่วงวัยได้อย่างยั่งยืน.

 

ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com    และ  bat_mamsao@yahoo.com

 

หน้าแรก » การศึกษา