วันอังคาร ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567 16:01 น.

การศึกษา

วางศิลาฤกษ์อาคารโทคาแมคสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

วันจันทร์ ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563, 12.59 น.

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เป็นประธานวางศิลาฤกษ์อาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมคของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานใหญ่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค และทอดพระเนตรนิทรรศการผลการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โดยมี นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสมโภช อ่องจันทร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครนายก พลตรีดิฐพงษ์ เจริญวงศ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 12 พลตำรวจตรี อิทธิพร โพธิ์ทอง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และ รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เฝ้าฯรับเสด็จ

อาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมคแห่งนี้ เป็นอาคารเพื่อรองรับการติดตั้งเครื่องโทคาแมครุ่น HT-6 M ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ สทน. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทยจำนวน 214 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเครื่องโทคาแมคของไทย จากชิ้นส่วนหลักของเครื่องโทคาแมค HT-6 M และระบบสนับสนุนของเครื่องโทคาแมค รวมทั้ง ยังได้รับสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินจำนวนประมาณ 100 ล้านบาท ประกอบด้วย  งบประมาณเพื่อพัฒนาระบบวิศวกรรมต่อยอดและนวัตกรรมสำหรับเครื่องโทคาแมค จำนวน 54 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโทคาแมค อีกจำนวน  46 ล้านบาท เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 2 ชั้น แบ่งเป็นส่วนสำนักงานและส่วนปฏิบัติการ โดยส่วนปฏิบัติการ มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 670 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ปฏิบัติการสำหรับติดตั้งเครื่องโทคาแมค และพื้นที่สำหรับระบบสนับสนุนของเครื่องโทคาแมค อาคารดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 สำหรับการดำเนินงานการวิจัยด้านพลาสมาและฟิวชันในประเทศไทย เพื่อนำผลวิจัยพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสี มาใช้ประโยชน์ในเชิงเกษตรกรรมด้านอาหาร เพื่อการฆ่าเชื้อโรคในอาหารและผลิตผลทางการเกษตร ในเชิงการแพทย์ การประยุกต์เทคโนโลยีพลาสมามาใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขอนามัยโดยใช้พลาสมาในการบำบัดแผลติดเชื้อและแผลเรื้อรัง พร้อมช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดเนื้อเยื่อใหม่ หรือการรักษาผิวหน้า การรักษาแผล ตลอดจนถึงการมีส่วนช่วยในเรื่องของการกำจัดขยะและของเสีย

นอกจากนั้น สทน. และ สถาบันพลาสมาฟิวชันประเทศจีน หรือ ASIPP จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านพลาสมาและพลังงานฟิวชัน โดย ASIPP จะให้ทุนการศึกษานักศึกษาไทยไปศึกษาวิจัยต่อในหน่วยงานวิจัยทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของโลก และให้โอกาสนักวิจัยไทยเข้าร่วมทำวิจัย โดยใช้เครื่องมือและห้องปฏิบัติการระดับโลก และจะร่วมสร้างห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโทคาแมค เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของไทยในระดับภูมิภาคต่อไป  จะเห็นว่าโครงการนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมา การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่นนับเป็นหนึ่งในงานวิจัย ขั้นแนวหน้า หรือ Frontier research ที่จะช่วยสร้างความรู้ ความเป็นเลิศ และความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมไทย สร้างอุตสาหกรรมอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากภาวะวิกฤตและเทคโนโลยีที่แปรเปลี่ยนสู่ความสามารถพึ่งพาตัวเองได้ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและส่งเสริมเทคโนโลยีอื่นๆ ได้ เช่น เทคโนโลยีอวกาศ หุ่นยนต์ ระบบราง การแพทย์ และการเกษตร ช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศอีกด้วย หากประชาชนหรือภาคธุรกิจใด ที่สนใจเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน และประโยชน์ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในด้านต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์การ โทรศัพท์ 0-2401-9889  และ E-mail : pr@tint.or.th

หน้าแรก » การศึกษา