วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 22:49 น.

การศึกษา

อาชีวะเร่งพัฒนาหลักสูตรขนส่งทางรางและรถไฟความเร็วสูง

วันพุธ ที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2564, 17.33 น.
อาชีวะเร่งพัฒนาหลักสูตรขนส่งทางรางและรถไฟความเร็วสูง
 
ดร.อรรถพล สังขวาสี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  เปิดเผยถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมด้านระบบขนส่งทางรางและรถไฟความเร็วสูงภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือ แม่โขง- ล้านช้าง โดยความร่วมมือกับกรมอาชีวศึกษา สปป.ลาว และสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยเทคโนโลยีการรถไฟเทียนจิน บริษัท Dolang และห้องเรียนลูปัน  โดยมีสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมสังเกตุการณ์ และมีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่เปิดสอนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางราง จำนวนทั้งสิ้น 20 แห่ง เข้าร่วมประชุม ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี
 
การประชุมครั้งนี้ ได้มีการหารือ และวิเคราะห์ ศึกษา เทียบเคียงกรอบหลักสูตรในสาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางรางทั้ง 6 หลักสูตรประกอบด้วย  1) สาขาการบริหารการขนส่งทางรถไฟ 2) สาขาการซ่อมแซมหัวรถจักรรถไฟ 3) สาขาการไฟฟ้ารถไฟ 4) สาขาซ่อมแซมล้อรถไฟ 5) สาขาวิศวกรรมรถไฟ 6) สาขาซ่อมบำรุงอาณัติสัญญาณและการสื่อสารทางรถไฟ เพื่อกำหนดแนวทางให้พัฒนาคุณวุฒิร่วมกัน และการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เปิดสอนใน 3 สาขางาน ประกอบด้วย 1) สาขางานซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม 2) สาขางานซ่อมบำรุงตู้รถไฟ และ 3) สาขางานซ่อมบำรุงระบบราง
 
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เมื่อปี 2562 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม ด้านระบบขนส่งทางราง/รถไฟความเร็วสูง (High-Speed Train Course Development) และโครงการประชุมสัมมนาด้านอาชีวศึกษาไทย - ลาว - จีน (Meeting of the Thai – Lao China Vocational Training Cooperation) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมด้านการฝึกอบรมวิชาชีพและพัฒนากำลังคนให้กับประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง – ล้านช้างในสาขาที่สำคัญเพื่อยกระดับขีดความสามารถกำลังคนและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง – ล้านช้าง โดยรัฐบาลไทยได้อนุมัติจัดทำและลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริหารจัดการโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเคร่งครัด ต่อมาได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือ แม่โขง-ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทย และสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 
 
ทั้งนี้ กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง [Mekong – Lancang Cooperation (MLC) Special Fund] จัดตั้งขึ้นในคราวการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 1 โดยผู้นำจีนได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก 6 ประเทศ คือ จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) และประเทศไทย จำนวน ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการเร่งด่วนซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนโครงการและความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
 
 
 
Email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา