วันอังคาร ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 23:41 น.

การศึกษา

ม.มหิดล - อภัยภูเบศร พัฒนา "บัวบกศาลายา 1" หนุนอุตสาหกรรมเวชสำอาง

วันเสาร์ ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564, 14.40 น.
ม.มหิดล - อภัยภูเบศร พัฒนา "บัวบกศาลายา 1" หนุนอุตสาหกรรมเวชสำอาง
 
 
"บัวบก" เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประเภทยาจากสมุนไพร ในรูปแบบของยาครีมซึ่งมีฤทธิ์สมานแผล ซึ่งบัวบกเป็นพืชล้มลุกที่พบได้โดยทั่วไปในพื้นที่ชุ่มน้ำในเอเชีย โดยในประเทศไทยนิยมนำมาบริโภค เป็นทั้งผักและใช้เป็นยาสมุนไพร ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าของพืชสมุนไพรชนิดดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเภสัชศาสตร์ จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พัฒนาและปรับปรุงพืชสมุนไพรขึ้นเป็น "บัวบก พันธุ์ศาลายา 1" เพื่อพัฒนาโอกาสสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย
 
 
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้วิจัยหลักของโครงการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงพืชสมุนไพรขึ้นเป็น"บัวบก พันธุ์ศาลายา 1" ว่า โครงการวิจัยฯ ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์บัวบก จากการทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการ และลงพื้นที่ปลูกในแปลงทดลองในจังหวัดมหาสารคาม ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว. สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้โครงการที่เชื่อมโยงภาคการผลิตกับงานวิจัยทุนสกว. - อุตสาหกรรม และ มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จนได้บัวบกสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า"ศาลายา 1" ที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น จากการมีลักษณะใบที่ใหญ่ขึ้น และมีสารสำคัญในปริมาณที่มากขึ้นกว่าต้นแม่พันธุ์บัวบกตั้งต้นด้วย
 
 
ซึ่ง "Triterpenoids" หรือสารสำคัญที่อยู่ในบัวบกซึ่งมากด้วยคุณประโยชน์ทางยา จะพบมากที่สุดใน "บัวบก พันธุ์ศาลายา 1" ที่เก็บเกี่ยวในขณะอายุ 4 เดือน ในปริมาณร้อยละ 15.38 ในน้ำหนักแห้ง ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าต้นแม่พันธุ์ ในสภาวะแปลงปลูกเดียวกัน โดยทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคการเพิ่มชุดโครโมโซม และโคลนนิ่ง ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนได้พันธุ์บัวบกคุณภาพสูงที่ต้องการ และจะพัฒนาขึ้นเป็นเวชสำอางสมุนไพรสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป
 
               
โครงการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงพืชสมุนไพร "บัวบก พันธุ์ศาลายา 1" นอกจากเป็นผลผลิตจากงานวิจัยให้นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตร Plant Science ซึ่งเป็นหลักสูตรร่วมของคณะเภสัชศาสตร์ และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสพืชสมุนไพรดังกล่าวสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 9 ที่ว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Industry, Innovation and Infrastructure) อีกด้วย
 
 
 
 
email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com
 
 

หน้าแรก » การศึกษา