วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 12:17 น.

การศึกษา

แนะนำหลักพุทธธรรมป้องกันการกระทำผิดทางอาญา

วันจันทร์ ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2565, 13.15 น.

วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕  พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร  นักศึกษาหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง รุ่น ๑๗ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ภาคเช้ารับการเรียนรู้และฝึกอบรม “หลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง” รุ่น ๑๗ ในฐานะเลขาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งดูแลยุติธรรมทางเลือกให้การบริการสังคมให้เกิดสันติสุขในสังคมและดูแลกระบวนการพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒ ซึ่งจัดพัฒนาและฝึกอบรมโดย สถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ภายใต้หัวข้อ #นโยบายทางอาญากับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย บรรยายโดย รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท กล่าวประเด็นสำคัญว่า นโยบายทางอาญาเป็นทุกการกระทำที่ส่งผลต่ออาชญากรรม นโยบายทางอาญารวมถึงการตัดสินใจว่าการกระทำใดเป็นการกระทำที่เป็นความผิดอาญา โทษที่จะใช้กับผู้กระทำความผิดควรเป็นเช่นไร และมีความรุนแรงเพียงใด ซึ่งเป้าหมายของนโยบายทางอาญา เพื่อป้องกันอาชญากรรม รักษาไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรม นำผู้กระทำผิดสู่กระบวนการยุติธรรม เวลาเราพูดถึงอาญามักจะมอง ๒ ประการคือ ความผิดทางอาญาและการลงโทษทางอาญา คำถามคืออะไรคือความผิดทางอาญา การลงโทษจะต้องให้เกิดความยุติธรรมปรากฏ การลงโทษต้องสามารถฟื้นฟูแก้ไขกลับไปเป็นคนดีสามารถอยู่ร่วมกับสังคมไทย โดยไม่กระทำผิดซ้ำ โดยนักกฎหมายในฝรั่งเศสร่างประมวลแพ่งในฝรั่งเศสกล่าวว่า “จะต้องไม่มีกฎหมายที่ไม่จำเป็นเพราะกฎหมายที่ไม่จำเป็นจะให้กฎหมายที่จำเป็นอ่อนแอและทำลายความแน่นอน ความศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ” หมายถึง กฎหมายจะต้องออกเท่าที่จำเป็น อย่าทำให้กฎหมายเฟ้อ เจ้าหน้าที่ไม่ทราบ ประชาชนไม่ทราบ นำไปสู่การทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ จะทำให้กฎหมายอื่นๆ ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์  โดยกฎหมายจะต้องทำให้เป็นเพชรให้มีค่า

คำถามประเทศไทยกฎหมายเราเฟ้อหรือไม่อย่างไร ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งในมาตรา ๗๗ พึงกำหนดโทษอาญาและความผิดร้ายแรง คำถามคืออะไรคือความผิดร้ายแรง อะไรคือคือความผิดเล็กน้อย ซึ่งเกณฑ์การกำหนดความผิดอาญา ประกอบด้วย ๑)อันตรายต่อความสงบของสังคม (Social order) เช่น ฆ่าคนตาย ๒)มาตรการสุดท้าย (Ultima ratio)  โทษอาญาควรเป็นมาตรการสุดท้าย โทษจำคุกควรเป็นมาตรการสุดท้าย ควรมีการลงโทษแบบอื่นก่อน แต่ที่ผ่านมาเรามักจะหยิบอาญาเป็นมาตรการแรกเสมอ โทษอาญาควรเป็นมาตรการสุดท้ายเพราะเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอาญา เปลืองงบประมาณของรัฐในการดำเนินคดีอาญา ถูกบันทึกประวัติอาชญากร และโทษจำคุกควรเป็นมาตรการสุดท้ายเพราะเปลืองงบประมาณรัฐในการควบคุมผู้ต้องขัง เปลืองค่าเสียโอกาสของมนุษย์ในการเพิ่มผลผลิตด้วยการทำงาน ซึ่งสภาพบังคับกฎหมาย ๓ ระดับ คือ ความผิดอาญา โทษทางปกครอง และ ยกเลิกความผิดทางอาญา (คงสถานะเป็นความรับผิดทางแพ่งหรืออื่นๆ) โดยโทษทางอาญามีการจำคุก ปรับ จำกัดสิทธิ  บังคับเมื่อศาลพิพากษา มีตราบาป กระบวนการเปิดเผบ ส่วนโทษทางปกครองมีการปรับ จำกัดสิทธิ บังคับคดี ไม่มีตราบาป และกระบวนการไม่เปิดเผย

โทษทางอาญาได้มีการลงโทษโดยคำนึงเหตุภาววิสัย  การลงโทษโดยคำนึงถึงเหตุอัตวิสัย แล้วนำมาสู่การลงโทษผสม โดย Hadrien สะท้อนว่า ในความผิดอาญาเราต้องพิจารณาความสมัครใจของผู้กระทำไม่ใช่แค่ผลของการกระทำ ซึ่งการพิจารณาโทษในฝรั่งเศสจะลงโทษพิจารณาจากพฤติการณ์ของความผิดและลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำผิด ส่วนในอังกฤษในการลงโทษพิจารณาความเสียหายและความชั่วร้ายของผู้กระทำ โดยการลงโทษจะถูกยกร่างและรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อนนำไปใช้ โดยมีคณะกรรมการลงโทษประกอบด้วยผู้พิพากษา ๘ คน  และประชาชน ๖ คน  พร้อมทั้งเปิดเผยการลงโทษให้ประชาชนรับทราบ เพื่อประโยชน์ของสังคมในมิติของความยุติธรรม ความรวดเร็ว และประโยชน์ของผู้ถูกดำเนินคดีโดยหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ และสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นระบบ  โดยนโยบายทางอาญากับสิทธิมนุษยชนมี ๑๗๓ ประเทศรวมถึงประเทศไทย ใช่คำว่าประเทศภาคี ICCPR  โดยพูดถึงสิทธิมนุษยชนทั่วไป เป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น การมีทนายความ สิทธิในการเป็นผู้บริสุทธิ์ 
นโยบายทางอาญากับการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ โดยมองการกระทำผิดเกี่ยวกับทางเพศ หรือ ชีวิตร่างกายที่ใช้ความรุนแรง โดยผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ “พ้นโทษแล้วพ้นโทษเลย” ย่อมสร้างความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสังคม โดยมีสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ปล่อยตัวรายปี ในปี ๒๕๖๔ มีผู้ได้รับการปล่อยตัว ๒๔๖,๖๐๐ คน จะต้องมีเงื่อนไขในการพ้นโทษเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ จึงควรมีการพักการลงโทษและนำไปสู่การแก้ไขปัญหานี้ต่อไป จะต้องมีกลไกเพื่อป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ มีแนวทางป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในทุกประเภทความผิด โดยการกระทำผิดพิจารณาจากปัจจัยด้านความรุนแรงของการกระทำผิดซ้ำและปัจจัยด้านโอกาสที่เกิดความรุนแรง จากสถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่าประเภทคดีที่มีอันตรายการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในปี ๒๕๖๔ อันดับที่ ๑ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันดับที่ ๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ อันดับที่ ๓ ความผิดอื่นๆ อันดับที่ ๔ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย อันดับที่ ๕ ความผิดเกี่ยวกับเพศ โดยความผิดที่อยู่ในเป้าหมายของกฎหมายคือความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกายและความผิดเกี่ยวกับเพศ 

โดยในออสเตรเลียป้องกันการกระทำความผิดซ้ำมีคำสั่งคุมประพฤติภายหลังพ้นโทษ  มีเงื่อนไขการคุมประพฤติ ในฝรั่งเศสมีการแก้ไขฟื้นฟูบำบัด มีการคุมประพฤติภายหลังพ้นโทษ แพทย์สามารถใช้ยาเพื่อลดความต้องการเพศ ลดโฮโมนอารมณ์ทางเพศ ซึ่งมาตรการทางการแพทย์ได้ผล ในอังกฤษผู้กระทำความผิดอันตรายจะถูกมาตรการ ๓ อย่าง คือ การขยายระยะเวลาจำคุก การปล่อยตัวอยู่ภายใต้การพักโทษ และการกำหนดการจำคุกตลอดชีวิตอย่าแท้จริง (Whole life order) ส่วนในประเทศไทยมีการปล่อยเร็วมาก ซึ่งในปัจจุบันมีการร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.  และ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.  ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปัจจุบัน โดยใช้ต้นแบบกฎหมายประเทศออสเตรเลีย และฝรั่งเศส 

ดังนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงมองว่าสิ่งสำคัญจะต้องเน้นการป้องกันมากกว่าการลงโทษ เป็นแนวทางสังวรปธานเป็นการป้องกันไม่ให้กระทำผิดผ่านการพัฒนาให้ผู้คนมีสติในการดำเนินชีวิต ดำเนินการตามพื้นฐานของศีลห้า คือ เคารพในชีวิตผู้อื่น เคารพในทรัพย์สินผู้อื่น เคารพในครอบครัวคนอื่น เคารพในการสื่อสารที่ล่วงละเมิดผู้อื่น และเคารพในสุขภาพและชีวิตผู้อื่น ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบต้นน้ำ และปลายน้ำก็ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขและเยียวยาให้เหมาะสมต่อไปเพราะ “ผิดมากผิดน้อยคือความผิด แต่ผิดแล้วสำนึกผิดหรือไม่” พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองไม่กระทำผิดซ้ำอีกต่อไป

หน้าแรก » การศึกษา