วันอังคาร ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 04:31 น.

การศึกษา

จุฬาฯ พบสาร THC จากกัญชาเกินกำหนดในอาหารคาว-หวานเพียบ

วันพฤหัสบดี ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2565, 07.20 น.
จุฬาฯ พบสาร THC จากกัญชาเกินกำหนดในอาหารคาว-หวานเพียบ
 
         
ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ พบสาร THC จากกัญชาเกินกำหนดในอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง และเครื่องดื่มที่จำหน่ายในท้องตลาดเพียบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนักผสมกัญชาหนักสุด 32-51 โดย น้ำหนัก จากเกณฑ์ต้องไม่ถึง 0.2 โดยน้ำหนัก เข้าข่ายยาเสพติดได้ ด้านเครือข่ายวิชาการและภาค ประชาชนต้านภัยยาเสพติดยื่นจดหมาย เปิดผนึกขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. ชะลอการปลดกัญชา ไม่ให้เป็นยาเสติดออกไปก่อน จนกว่าจะมีการพิจารณาอย่างรอบครอบ
 
 
ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลการวิจัยวิเคราะห์ปริมาณสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC ในอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ขายรายงานว่ามีกัญชาเป็นส่วนผสมอยู่ ซึ่งสาร THC มีคุณสมบัติต่อจิตประสาททำให้ผ่อนคลาายเคลิบเคลิ้ม โดยทำการศึกษาในตัวอย่างอาหารคาว หวาน อาหารแห้ง และเครื่องดื่ม ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจำนวน 29 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนธันวาคม 2564 ถึงมกราคม 2565 นำมาตรวจหาปริมาณสาร THC เพื่อดูว่าในอาหารมีสาร THC เกินกว่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 427 และ 429 พ.ศ. 2564 หรือไม่
 
           
ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติดฯ  กล่าวถึงผลการศึกษาซึ่งพบว่า อาหารคาวและอาหารหวานผ่านเกณฑ์คือมี THC ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก แต่หลายผลิตภัณฑ์ไม่ผ่านเกณฑ์คือมี THC สูงเกินกำหนดซึ่งถือเป็นยาเสพติด ได้แก่ เครื่องดื่มผสมสมุนไพรและผงชากัญชามี THC ร้อยละ 0.214-0.231 โดยน้ำหนัก   คุกกี้มี THC ร้อยละ 0.498 โดยน้ำหนัก 
 
           
ด้าน ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยยาเสพติดฯ  ผู้ร่วมการวิจัยนี้กล่าวเสริมว่า ที่น่าเป็นห่วงมากคืออาหารแห้ง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผสมกัญชามี THC สูงถึงร้อยละ 32-51 โดยน้ำหนัก ซึ่งเกินเกณฑ์ไปมาก สันนิษฐานว่าใบกัญชาที่นำมาใส่อาจใกล้ช่อดอก หรืออาจมีการแอบผสมช่อดอกในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนี้  
 
           
“นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง หากมีการปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดคนจะนำไปใช้แบบผิดๆ ได้ เพราะคิดว่าไม่มีใครมาตรวจ ผู้ขายอาจแอบนำกัญชามาใส่ในอาหารในระดับที่มากเพื่อให้ขายได้ดีๆ ” ผศ.ดร. อุษณีย์ ระบุ
 
           
ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด นำโดย ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย และ นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ส. เพื่อขอให้ชะลอการตัดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดออกไปก่อน จนกว่าจะมีการฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และมีกฎหมายและแผนการควบคุมที่ชัดเจน 
 
           
นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น ผู้แทนภาคประชาชนต่อต้านปัญหายาเสพติด กล่าวว่า สืบเนื่องจากข้อมูลที่ได้รับฟังจากการเสวนาเรื่องมองรอบด้าน : ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือที่จะตัดกัญชาออกจากการเป็นยาเสตพิด ที่จัดโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดฯ เมื่อวานนี้ พบว่า กัญชาก่อให้เกิดโรคจิตได้ มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและเยาวชน มีผลต่อหัวใจจนทำให้เสียชีวิตได้ บวกกับข้อมูลใหม่วันนี้จากศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบสาร THC ผสมอยู่ในอาหารตั้งหลายชนิด
 
           
“แบบนี้เด็กและเยาวชนจะไม่เสพ THC ที่เป็นยาเสพติดกันทั่วประเทศหรือ นี่ยังไม่นับว่าเด็กจะเอาช่อดอกมาสูบหากมีการปลูกที่บ้านอย่างเสรี” ผู้แทนภาคประชาชนต่อต้านปัญหายาเสพติด กล่าว
 
           
เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดยังย้ำจุดยืนว่า เราเห็นด้วยกับการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ แต่เราไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ ไม่จำเป็นต้องยกเลิกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด และขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โปรดพิจารณาทบทวน และชะลอการนำพืชกัญชาออกจากชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ยส.5) ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและข้อมูลที่รอบด้าน และมีกฎหมายและแผนในการควบคุมที่ชัดเจนที่เป็นฉันทมติร่วมกันของผู้คนในสังคมไทย
 
 
email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

 

 

หน้าแรก » การศึกษา