วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 17:59 น.

การศึกษา

อว.ตื่นแล้ว! "เอนก" หนุนมหาวิทยาลัย "ลงจากหอคอย" มุ่งวิจัยชุมชนแก้จนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วันเสาร์ ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 15.12 น.

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม 2565  ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ Engagement Thailand Annual Conference 2022 ที่โรงแรมเรือรัษฏา จังหวัดตรัง โดยให้การสนับสนุนเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคมหมายความว่ามหาวิทยาลัยต้องไม่ใช่มุ่งการสอนอย่างเดียว แต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ หรือ engagement กับสังคมด้วย

“ผมคิดว่า การมีส่วนร่วม ผูกพันมีส่วนเกี่ยวข้องหรือการมีพันธกิจ แปลความหมายได้หลาย ๆ อย่าง เป็นการมีปฏิสัมพันธ์เชิงพื้นที่ เชิงท้องที่ เชิงท้องถิ่น เชิงสังคม เชิงชุมชน ตั้งแต่ชุมชน ตําบล หมู่บ้านเมือง จนถึงมหานครก็ได้ เช่น มทร.หลายแห่ง มีปฏิสัมพันธ์ความร่วมมือกับจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย หรือจะเป็นระดับภาคระดับประเทศ รวมทั้งองค์กรธุรกิจเอกชนก็ได้ ”

รมว.อว.กล่าวย้ำว่า engagement มีประโยชน์มาก อยากจะให้เกิดวิจัยแบบไปห้างหรือไปสู่ชุมชน หรือไปสู่ธุรกิจแต่ว่าทําโดยมีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ของธุรกิจเองวิสาหกิจ หรือกับชุมชน ซึ่งมีพลังมากกว่าเยอะ และเราต้องไม่เก็บตัวอยู่กันในหอคอยงาช้างอีกต่อไป แต่ต้องพร้อมที่จะออกจากหอคอยงาช้างไปช่วยคนอื่น ไปเรียนรู้จากวิกฤติไปเรียนรู้จากปัญหา แล้วก็เอาประสบการณ์กลับเข้ามายังมหาวิทยาลัย สร้างขึ้นมาเป็นความรู้ที่มันสูงกว่าเดิมอีก

ทางด้านศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม บรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง“บทบาทของสมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่า มหาวิทยาลัยในประเทศที่พัฒนาแล้วในประชาคมโลกในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้พัฒนาวิธีคิด วิธีการร่วมคิดร่วมทําระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอกทั้งของรัฐของเอกชน ของชุมชน ของท้องถิ่น ในลักษณะที่มีการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งจําเป็นต้องสร้างกระบวนการคิดร่วมกัน ทําร่วมกัน ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และให้ได้ผลลัพธ์ผลกระทบที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals(SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งสมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม ได้นํามหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าร่วมในการกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อํานวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความสําเร็จของบพท.ในการบรรลุเป้าหมาย SDGs” โดยกล่าวว่า  บพท.เป็นกลไกสําคัญ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนพื้นที่ผ่านการจัดการหน่วย บพท.สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ทุนวิจัยและการจัดการเป็นเครื่องมือไม่ใช่หน่วยให้ทุนที่ให้ทุนแล้ว จบลงแค่การตรวจรับรายงานการวิจัย แต่เราจะวัดกันที่รูปธรรมการเปลี่ยนแปลงในผลลัพธ์สุดท้าย เพราะฉะนั้นทุกมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว ทุกคณะผู้วิจัยก็ต้องมีการปรับตัว เพื่อนําไปสู่การบรรลุเป้าหมายสําคัญคือ การกระจายความเจริญและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่นด้วย 

“ผมอยากเสนอให้มหาวิทยาลัยทําวิจัยผ่านมืออาชีพ ถามว่านักวิจัยมืออาชีพหมายความว่าอย่างไร ซึ่งโดยหน้าที่หลักของอาจารย์คือสอนเด็กในการสร้างคน เปลี่ยนเป็นการใช้งานวิชาการสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถทําได้หมด แต่ต้องปรับโครงสร้าง ผมคิดว่ามันเป็นทางรอด” ดร.กิตติ กล่าวและว่าถึงกระบวนการทํากลยุทธการขับเคลื่อน ในส่วนของบพท.กรณีของคนและครัวเรือนยากจนโดยระบุว่ามีข้อมูลที่ชี้ชัดว่ามีคนตกหล่นที่เป็นครัวเรือนยากจนซ้ำซากซ้ำ  ซึ่งนอกจากจะไม่หมดไปจากประเทศไทยแล้วยังมีโอกาสขยายตัว เพราะพิษเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าการวิจัยนวัตกรรมไม่ใช่แค่ทํางาน ไม่แค่ทําตัวความรู้ แต่ต้องใช้ความรู้เข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนที่สอง เศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำ  ซึ่งเศรษฐกิจฐานรากที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เกิดจากพืชและสัตว์เศรษฐกิจแล้วเกิดจากกลุ่มอาชีพ แต่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ไม่ได้อยู่ในแผน บพท.ก็จะโฟกัสไปที่กลุ่มอาชีพ เราเรียกว่า Local enterprise ซึ่งจะประกอบด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน, Local SME และโอทอป นี่คือกลุ่มจัดตั้ง แต่ที่ไม่ใช่กลุ่มจัดตั้งก็เยอะมาก เพราะ Local enterprise เป็นกลุ่มอาชีพ เป็น Local business unit ที่มีโครงสร้างกระจายรายได้ ตั้งมาแล้วใช้ Local content กัน แต่เวลาทําเป็นกลไก ทําที่กลุ่ม เพราะฉะนั้นเราจึงมีนวัตกรรมใหม่เช่น “วัคซีนการเงิน” ทําให้เขารู้สภาพคล่องทางการเงินของกลุ่ม สามารถนําข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์กลยุทธ์ทางด้านการเงินทําให้กลุ่มอยู่รอดในสภาวะวิกฤติ ซึ่งเปิดไปมีคนสนใจ ตอนนี้ปตท.มาร่วมมือกับเรา มีเงินอุดหนุนให้เรา

ส่วนสุดท้ายคือ ชุมชน โดยชุมชนที่เป็นท้องถิ่น ตําบล อําเภอ ชุมชนเหล่านี้ก็คือการใส่นวัตกรรมพร้อมใช้แล้วทําให้เขาเกิดการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีด้วยตนเอง เราเรียกแบบนี้ว่านวัตกรชุมชน ซึ่งตอนนี้เราทํากว่า 5 พันคนทั่วประเทศ ใน 500 กว่าตําบล ซึ่งจะสามารถนําความรู้นวัตกรรมไปขยายผลได้

ประการต่อมา การกระจายศูนย์กลางความเจริญและเมืองน่าอยู่ (Macro level) ปัจจุบันเรามีกลไกพัฒนาเมืองน่าอยู่ในรูปของวิสาหกิจพัฒนาเมืองอยู่ 19 เมือง ในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ก็นําไปสู่การสร้าง urban development ,urban design ,urban solution ในการรับมือเช่น เมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเมืองแห่งการเรียนรู้จะสามารถพัฒนาและสร้างอาชีพให้คนตกงานได้ เช่น ใน จ.พะเยาสามารถร่วมกับเทศมนตรีของเมืองพะเยา ทําให้เกิดแพลตฟอร์มเมืองแห่งการเรียนรู้แล้วซัพพอร์ต Local wisdom คือนําปราชญ์ชาวบ้าน ความรู้ของชาวบ้าน ของมหาวิทยาลัยมาผสมผสานกันแล้วทําหลักสูตรฝึกทักษะอาชีพ ให้กับคนตกงาน ซึ่งสามารถช่วยเหลือไปแล้วได้กว่า 2 หมื่นคน

ส่วนที่สอง Local Smart government ซึ่ง smart government ต่อไป 10 -20 ปี ขีดความสามารถของผู้นําท้องที่จะทําให้พื้นที่ที่บริบทคล้าย ๆ กันเจริญหรือไม่เจริญ อีก 20 ปีข้างหน้าเป็นการพูดถึง Local Smartgovernment ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาแบบนี้ได้ กลไกในการ build up ชุมชนจะไม่เกิดเพราะชุมชนจะมีขีดจํากัดเช่น เรื่องงบประมาณ ฯลฯ

สุดท้ายคือเรื่องของพื้นที่เฉพาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมอบหมายให้ไปดูพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งเป็นการตีความที่ถือว่าปราดเปรื่องมาก คือตีความว่าพื้นที่เศรษฐกิจข้างบ้านเราเป็นพื้นที่เศรษฐกิจร่วม อย่าคิดว่าเฉพาะของประเทศไทยหรือเฉพาะเพื่อนบ้าน เพราะได้รับประโยชน์ร่วมกัน

“ทั้งหมดนี้คือความสําเร็จในเชิง out put ที่เกิดมาจากเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้มองจํากัดแค่ความเป็นมหาวิทยาลัย แต่เรามองมหาวิทยาลัยเป็นโครงสร้างการสร้างข้อมูลความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งกําลังผลักดันให้เครือข่ายมหาวิทยาลัยทําแพลตฟอร์มให้ทุกคนมาร่วมมือกัน เช่น เป้าหมายขจัดความยากจนของรัฐบาล เพราะความร่วมมือแบบนี้ทําโดยมหาวิทยาลัย โดยพวกเรา หรือนักวิชาการส่วนเดียวทําไม่ได้ ต้องชวนคนอื่นมาทําด้วย”

หน้าแรก » การศึกษา