วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 19:11 น.

การศึกษา

จากอดีต ปัจจุบัน ถึงอนาคต สู่เด็กชายขอบ ผู้ด้อยโอกาส

วันเสาร์ ที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, 11.18 น.
จากอดีต ปัจจุบัน ถึงอนาคต สู่เด็กชายขอบ ผู้ด้อยโอกาส
 
 
จากอดีต “เด็กชายขอบ” ตามแนวตะเข็บชายแดนประเทศไทย แทบจะไม่มีใครเหลียวมอง โดยเฉพาะความช่วยเหลือด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ควรได้รับอย่างเสมอภาค...ในฐานะองค์กรไทย กลุ่มทรู ได้ระดมทุกสรรพกำลังนำศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยยกระดับการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นแก่ครูผู้สอน เด็กชายขอบ และผู้ปกครองในพื้นที่ห่างไกลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
 
 
 
เปิดประตูแห่งโอกาสแก่นักเรียนแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์   จุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 ที่กลุ่มทรู ได้ร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขับเคลื่อน “โครงการสื่อพกพาเพื่อการรู้หนังสือสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา”หรือ Mobile Literacy for Out-of-School Children Project มอบสื่อไอซีทีจากโครงการทรูปลูกปัญญา ทั้งชุดอุปกรณ์รับสัญญาณสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอน ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระวิชา และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย ให้แก่ศูนย์การเรียนรู้กว่า 70 แห่ง ไล่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ 5 จังหวัด ตั้งแต่ ระนอง กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน ไปถึงเชียงราย ทำให้ครูกว่า 350 คน ได้พัฒนาทักษะการใช้สื่อพกพาและนำไอซีทีมาประยุกต์ใช้จัดการเรียนการสอน มีนักเรียนกว่า 10,000 คน สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้และอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญ ผลลัพธ์อันน่าภูมิใจ คือการได้เห็นเด็กเมียนมาร์จากศูนย์การเรียนรู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ มีคะแนนสอบยอดเยี่ยมติด 10 อันดับแรกของหลักสูตรกศน.ของเมียนมาร์ (Non-Formal Primary Education)
 
 
นอกจากนี้ยังขยายผลสู่เด็กชายขอบ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้   ใน“โครงการสื่อพกพาเพื่อการรู้หนังสือสำหรับเยาวชนปอเน๊าะ” โดยติดตั้งชุดสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้จากโครงการทรูปลูกปัญญา พร้อมด้วยชุดอุปกรณ์ครบชุด ให้แก่ครูและนักเรียนของกศน. ภาคใต้ และสถาบันศึกษาปอเนาะ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้ครูได้ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ขณะที่เด็กนักเรียนกศน. และโรงเรียนรัฐบาลต่างๆ ในจังหวัดภาคใต้ ก็สามารถเข้าถึงแหล่งสาระข้อมูลและข่าวสาร ทั้งด้านวิชาการ ศาสนา วัฒนธรรม พร้อมสื่อดิจิทัลภาษาอารบิก และภาษามลายู ซึ่งน่ายินดีอย่างยิ่งที่เพียงไม่ถึง 1 ปี นักเรียนปอเน๊าะมีผลการเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถสอบผ่านเกณฑ์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้และการสื่อสารภาษาไทยซึ่งเป็นปัญหาหลักของนักเรียนในพื้นที่นี้
 
 
อีกทั้งตั้งแต่ปี 2563 กลุ่มทรู ได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ สนับสนุนด้านเทคโนโลยีสื่อสาร โรงเรียนบ้านป่าซางนางเงิน อ. แม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ติดชายแดนไทย-เมียนมาร์ และบูรณาการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) ให้ครูและนักเรียน ใช้อุปกรณ์ดิจิทัล และสัญญาณทรู 5G มาเสริมการเรียนรู้แบบครบวงจรในโครงงานวิชาต่างๆ พร้อมต่อยอดเปิดช่องทางจำหน่ายออนไลน์ รวมถึงบูรณาการการจัดการเรียนรู้รายวิชา นำแว่นเสมือนจริงและสื่อ 360 องศา ประกอบการเรียนรู้เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนานเกิดแรงบันดาลใจและจินตนาการไม่รู้จบ ตลอดจนพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่ชุมชนเพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ICT Talent มาประจำการที่ศูนย์ฯ และอบรมการใช้โปรแกรมพื้นฐาน เช่นเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป ติ๊กต็อก เพื่อให้คนในชุมชน นำไปใช้ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวต่อไป
 
 
ณ วันนี้ กลุ่มทรู ยังคงเดินหน้าสานต่อความตั้งใจที่จะสร้างโอกาสแห่งความทัดเทียมให้ “เป็นจริงได้” ด้วยเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดิจิทัล จะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยให้การศึกษาที่ดี มีคุณภาพ ไปถึงเด็กชายชอบทุกคนอย่างเสมอภาค ไร้พรมแดน อันนำเป็นเครื่องมือนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ดีที่สุด
 
 
 
ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com   ,  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา