วันพฤหัสบดี ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:31 น.

การศึกษา

มก.เปิดตัว Innovative Intermediary by KAPI ยกระดับ SME

วันพุธ ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 15.35 น.

มก.เปิดตัว Innovative Intermediary by KAPI ยกระดับ SME

 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) จัดงานเปิดตัว Innovation Intermediary by KAPI ภายใต้โครงการการเพิ่มศักยภาพและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจฐานนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมวิจัยด้านเยื่อพืชธรรมชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้แผนงาน Innovation Driven Enterprise : IDE ปีงบประมาณ 2566  เพื่อขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมงานวิจัยไปต่อยอดเพื่อการพัฒนาประเทศ การเพิ่มศักยภาพและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจฐานนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมวิจัยด้านเยื่อพืชธรรมชาติ ณ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย ในโอกาสครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยตาม BCG Model เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด พ.ศ.2565 (KU Holding Company Limited) ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือองค์ความรู้ในระดับสากลที่เกิดจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือเพื่อประโยชน์ต่อประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สนับสนุนภาคเอกชนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หรือสถาบันผลิตผลเกษตรฯ (KAPI) เป็นหนึ่งในหน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มิใช่อาหาร โดยเฉพาะด้านเยื่อกระดาษ วัสดุธรรมชาติ และวัสดุที่ย่อยสลายได้ โดยเป็นหน่วยให้บริการการพัฒนานวัตกรรม (innovation business development service, IBDS) ที่มีประสบการณ์ในการสร้างคุณค่าเพิ่มและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลการเกษตรมาเป็นเวลานานกว่า 32 ปี และเข้าใจปัจจัยความสำเร็จในการสนับสนุนและผลักดันนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) รวมทั้งมีความพร้อมและศักยภาพที่จะต่อยอดการดำเนินงานในบทบาทการเป็นคนกลาง (Intermediary) เพื่อเชื่อมโยงและยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation driven enterprises: IDEs)

                

ในงานนี้ นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงาน IDE และ รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย บพข. และเลขานุการแผนงาน IDE ได้กล่าวแนะนำและเปิดตัวแผนงาน Innovation Driven Enterprise: IDE และแนวทางการสนับสนุนโครงการเพื่อให้มหาวิทยาลัยได้เป็นส่วนเชื่อมต่อสำหรับการต่อยอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยสู่ SMEs

                

ภายในงานมีการเสวนาร่วมกันระหว่างดร.ปรียานุช สีโชละ นักวิจัยด้านเยื่อธรรมชาติ สถาบันผลิตผลเกษตรฯ และผู้แทนจาก 3 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด นายจตุรงค์ กรเวช  กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด และนายปณิธิ จิรดี ผู้อำนวยการสายงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) (มหาชน) เกี่ยวกับการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องร่วมกันระหว่างสถาบันผลิตผลเกษตรฯ กับภาคเอกชนทางด้านเยื่อกระดาษ วัสดุธรรมชาติ และวัสดุที่ย่อยสลายได้ และการดำเนินงานร่วมกับแต่ละบริษัทเพื่อผลักดันต่อยอดผลงานวิจัยด้านเยื่อพืชธรรมชาติและบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ เพื่อนำเทคโนโลยีไปช่วยสร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ รวมทั้งตอบสนองนโยบาย BCG และสิ่งแวดล้อมของโลก

 

ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com   ,  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา