วันอาทิตย์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 07:18 น.

การศึกษา

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ จับมือ สผ. - สพภ. ผลักดันแผนความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ สู่เป้าหมายสิ่งแวดล้อมโลกที่ยั่งยืน

วันเสาร์ ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.30 น.

ท่ามกลางความท้าทายด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ ความหลากหลายทางชีวภาพ กลายเป็นวาระสำคัญระดับโลก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

จึงได้รับเชิญจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) ให้เข้าร่วมเป็นภาคีในฐานะผู้ขับเคลื่อนภาคปฏิบัติ (Implementation Partner) ภายใต้ บันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ (NBSAP) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ 

โดยพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจจัดขึ้น ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันก่อน โดยมี หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการ สผ. และนางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สพภ. ร่วมลงนาม เพื่อยืนยันความร่วมมือในการผลักดัน NBSAP พ.ศ. 2566–2570 ซึ่งเป็นแผนระดับชาติ ฉบับที่ 5 ของประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายอย่างสอดคล้องและยั่งยืน
สาระสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างภาคนโยบายและภาคปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ อาทิ การพัฒนาเครื่องมือทางการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การบูรณาการฐานข้อมูล การเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ การผลักดันงานในระดับพื้นที่ร่วมกัน ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้แก่เยาวชน ผ่านระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ  กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินงานภายใต้หลักการพัฒนาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) “คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน” มาโดยตลอด ผ่านการพัฒนาที่คำนึงถึงทั้งทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างสมดุล โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งดำเนินงานมาเกือบ 4 ทศวรรษ ภายใต้แนวคิด “ปลูกป่า ปลูกคน” ดอยตุงได้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมเข้าไว้ด้วยกัน ปัจจุบัน มูลนิธิฯ ได้ศึกษาติดตามความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันว่าแนวทางที่นำมาใช้นั้นสามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อระบบนิเวศได้อย่างแท้จริง

ด้วยประสบการณ์จากการทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่จริง ทั้งจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โครงการขยายผลทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ป่าชุมชนทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน มูลนิธิฯ ยังได้ประเมินความเสี่ยงทางธรรมชาติในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้แบรนด์ดอยตุง เพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยง ลดผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม รวมถึงสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมนำองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม ทีมงานที่มีประสบการณ์ตรง และฐานข้อมูลทางธรรมชาติที่ได้รับการบันทึกอย่างต่อเนื่อง มาใช้สนับสนุนและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ (NBSAP) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพโลก คุนหมิง–มอนทรีออล และเป้าหมาย 30x30 ของประเทศไทย โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนภาคปฏิบัติ (Implementation Partner) ที่เชื่อมั่นว่าการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพจะเกิดผลอย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อมีการลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง พร้อมการมีส่วนร่วมของชุมชนในฐานะผู้ดูแลทรัพยากรโดยตรง พร้อมเปิดกว้างในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้เป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพของชาติสำเร็จอย่างยั่งยืน
 

หน้าแรก » การศึกษา