วันศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566, 17.52 น.
สสวท. เดินหน้าสนับหนุน ส่งเสริมนโยบายรัฐด้านการศึกษา
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สสวท. พร้อมที่จะดำเนินงานสอดรับนโยบายรัฐบาล โดยได้พัฒนาหลักสูตรและสื่อที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน พัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ พัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมครูที่เน้นพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน โดยใช้แพลตฟอร์มมาช่วยเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนได้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้เรียน มีสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ปรับแนวทางการวัดและประเมินผลที่เน้นการคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหามากขึ้น เพื่อนักเรียนสามารถนำความรู้มาใช้เชิงบูรณาการในชีวิตได้จริง ซึ่งผู้อำนวยการ สสวท. อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจของ สสวท. ปี 2567 ที่กำลังเดินหน้าผลักดันซึ่งสอดรับกับนโยบายฯ ดังนี้
.jpg)
การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สสวท. ได้พัฒนาและส่งเสริมแนวทางการจัดการเรียนการสอนเชิงสมรรถนะที่เน้นกระบวนการคิดแก้ปัญหาและสถานการณ์เชิงบูรณาการ โดยได้พัฒนาหลักสูตรสมรรถนะเชิงพื้นที่ในพื้นที่นำร่องเขตนวัตกรรมต่าง ๆ พัฒนาชุดต้นแบบการจัดการเรียนรู้หรือต้นแบบการวัดและประเมินผล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะได้หลักสูตรที่ทันสมัยในการส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ ในการแก้ปัญหา ปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น มีสมรรถนะที่จำเป็นเชื่อมโยงกับโลกของการทำงานในอนาคต สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และเป็นผู้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
.jpg)
การพัฒนาสื่อการเรียนรู้และแพลตฟอร์มการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ผู้เรียนเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สสวท. ได้พัฒนา สื่อการเรียนรู้ และจัดทำชุดกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในทุกช่วงวัย ให้แก่นักเรียนทุกกลุ่มรวมไปถึงนักเรียนด้อยโอกาสทางการศึกษา ผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อนำเข้าระบบการเรียนรู้ออนไลน์ My IPST เช่น สื่อ Project 14 หนังสือเรียนดิจิทัล สื่อดิจิทัลประกอบบทเรียนออนไลน์ โดยปี 2566 มีผลผลิตรวม 226 รายการ ผลความพึงพอใจของผู้ใช้หลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ของ สสวท. ร้อยละ 87.80 รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้ครบวงจร ทั้งในส่วนของการพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน เปิดโอกาสให้บุคลากรและหน่วยงานอื่น ๆ สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสื่อการเรียนรู้ได้ การพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งมีการติดตามการนำความรู้จากการอบรมไปใช้ในการจัดการศึกษา และการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษาโดยมีการเก็บ และประมวลผลข้อมูลการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Personalized Learning) ทำให้มีต้นแบบในการใช้แพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับโรงเรียนกลุ่มต่าง ๆ และสามารถนำไปใช้ขยายผลในการเรียนรู้แบบ offline และการศึกษาทางไกล สำหรับกลุ่มนักเรียน หรือโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้แบบออนไลน์ได้ โดยปี 2566 มีผู้เข้าใช้งานทุกแพลตฟอร์ม 26.79 ล้านครั้ง และเข้าชมสื่อ Project 14 กว่า 14.35 ล้านครั้ง
การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ฯ สสวท. ได้ดำเนินการนำร่องในการยกระดับคุณภาพของโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเริ่มจากโรงเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ และโรงเรียนเครือข่ายประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อให้โรงเรียนตามพื้นที่ต่าง ๆ มีความพร้อม สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน สามารถพัฒนาหลักสูตร สื่อ ที่เหมาะสมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สอดรับกับบริบทของโรงเรียน และความต้องการของท้องถิ่น และพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษาให้สามารถจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะ สามารถนำความรู้ และทักษะจากชั้นเรียนไปใช้แก้ปัญหาในการดำรงชีพ เป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาประเทศในอนาคต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายโอกาสทางการศึกษา
การพัฒนาครู และส่งเสริมให้นำ STEM Education มาใช้จัดการเรียนรู้ เช่น การพัฒนาหลักสูตรหรือการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่บูรณาการ STEM/STEAM ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนตามแนวทางสะเต็มศึกษาโดยอบรมครู 4 สังกัดทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งได้พัฒนาครูด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พัฒนาผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ วิทยากรแกนนำ เพื่อขับเคลื่อนการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน พัฒนาครูโรงเรียนพระราชดำริ พัฒนาครูโรงเรียนคุณภาพ SMT ตามแนวทาง สสวท. และพัฒนาศักยภาพครูเชิงพื้นที่ โดยปี 2566 สสวท. ได้พัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีถึง 92,563 คน ให้เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator and Coach) ปรับเปลี่ยนแนวการเรียนการสอนแบบเดิมจากการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ ไปสู่การกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความอยากรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ให้คำปรึกษา ชี้แนะวิธีการเรียนรู้ และให้เกิดการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน และเป็นระบบ นักเรียนสามารถบูรณาการความรู้ และเชื่อมโยงความรู้สู่ชีวิตประจำวัน โดยการใช้ฐานความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี มีความรู้ความเข้าใจการสอนเชิงสมรรถนะที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ บูรณาการความรู้มาใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง
การให้ความรู้เท่าทันสื่อ และทักษะดิจิทัลแก่ประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ก้าวทันโลก ก้าวทันอนาคตในทุก ๆ ด้าน สสวท. ได้ส่งเสริมการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) เพื่อขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทาง เน้นให้ครูและนักเรียนปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาการคิดเชิงเหตุและผล มีทักษะการคิดเชิงคำนวณ ซึ่งเป็นทักษะที่เกิดขึ้นในการแก้ปัญหาจากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้เรียนสามารถนำทักษะนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง เชื่อมโยงกับบริบทของท้องถิ่น เช่น ความรอบรู้ด้านดิจิทัล การจัดการข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ และโค้ดดิ้ง ความรู้และทักษะดังกล่าวนี้ล้วนมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต รวมถึงทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์ การทำงานเป็นทีม การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการเตรียมเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีสมรรถนะสูงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้พัฒนาส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษและส่งเสริมให้บัณฑิต พสวท. ให้ทำงานวิจัยในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเพื่อต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ และผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อตอบสนองการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่เป็นการวิจัยชั้นแนวหน้า โดยให้ทุนการศึกษาทั้งใน และต่างประเทศแก่ผู้มีความสามารถพิเศษ พัฒนาเยาวชนระดับประถมศึกษาภายใต้โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผ่านศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพฯ ระดับประถมศึกษา ส่งเสริมนักเรียนโครงการโอลิมปิกวิชาการ และร่วมกับมูลนิธิ สอวน. ในการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ
การปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย สร้างความโปร่งใส และปรับปรุงการทำงาน สสวท. ได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเพื่อลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และให้มีความโปร่งใส เพิ่มสมรรถนะองค์กรเพื่อขยายขีดความสามารถในการใช้ดิจิทัลและพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการภายในระบบเทคโนโลยีให้มีความปลอดภัย บำรุงรักษาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยในการบริหารจัดการองค์กรและการบริการ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและการใช้นวัตกรรม
นอกจากนั้น สสวท. ยังได้จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักและให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ผ่านเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้และนิทรรศการ มีผู้ร่วมกิจกรรมในทุกภูมิภาคถึง 504,495 คน
ส่งข่าวได้ที่ email : saowaporn12345@gmail.com และ bat_mamsao@yahoo.com