วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 14:24 น.

การศึกษา

โครงการ Let’s Read and Play เพิ่มทักษะการอ่าน สร้างพัฒนาการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย

วันพุธ ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567, 15.30 น.

โครงการ Let’s Read and Play เพิ่มทักษะการอ่าน สร้างพัฒนาการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย

 

ดำเนินการมาครบ 1 ปีแล้ว สำหรับโครงการ Let’s Read and Play ส่งเสริมการอ่านผ่านนิทาน และการเล่น ที่ทางกรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิเอเชีย ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท โนมูระ สิงคโปร์ จำกัด ได้จัดทำขึ้น โดยคัดเลือกหนังสือนิทานภาษาไทย 64 เรื่อง จากห้องสมุดดิจิทัล Let’s Read มาออกแบบเป็นหลักสูตรและทำกิจกรรมส่งเสริมทักษะการรู้หนังสือ จำนวน 32 สัปดาห์ ตามหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560 นำร่องที่ รร.ฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) เขตสายไหม ด้านนักวิชาการ, ครูและผู้ปกครอง เผยช่วยให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านและเรียนรู้, เกิดทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความอบอุ่นให้ครอบครัว เกิดความสมดุลส่งเสริมพัฒนาการแบบองค์รวม และการเรียนรู้ตามวัยอย่างมีความสุข พร้อมเตรียมขยายผลในอีก 3 โรงเรียนของ กทม. ภายในปี 2567

 

 

 

รศ.ดร.อรพรรณ บุตรกตัญญู อาจารย์ประจำสาขาปฐมวัยศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และผู้ออกแบบหลักสูตรโครงการฯ กล่าวว่า “จากผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ในปีล่าสุด พบว่าระดับคะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยต่ำกว่าประเทศอื่น อีกทั้งผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test : RT) ในระดับชั้นประถม ศึกษายังคงน่ากังวล ดังนั้นการจัดทำโครงการ Let’s Read and Play ที่นำนิทานจากทั่วทุกมุมโลกมาให้ครู, ผู้ปกครองอ่านและทำกิจกรรมส่งเสริมร่วมกับเด็ก จึงเป็นประโยชน์สำหรับการประเมินในข้างต้น เนื่องจากช่วยบ่มเพาะนิสัยรักการอ่าน กระตุ้นการรู้ภาษาและหนังสือ รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะการฟังที่จะเชื่อมโยงไปสู่ทักษะการเขียน ซึ่งได้เน้นแนวคิดสมดุลภาษาทั้งการสอนภาษา ธรรมชาติ และการสะกดคำตามวัย บูรณาการกับ STEM และ STEAM Education โดยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ช่วยให้ครูได้พัฒนาแผนการเรียนการสอน ขณะที่ทางผู้ปกครองได้ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันภายในครอบครัว”

 

หลังจากการดำเนินงานสิ้นสุดลง ดร.วีรภัทร์ สุขศิริ อาจารย์สังกัดสำนักทดสอบทางการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประเมินผลความสำเร็จของโครงการ พบว่านักเรียนระดับชั้นอนุบาลที่เข้าร่วมโครงการมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่โดดเด่นด้านทักษะการอ่าน เด็กรู้จักตัวอักษร เสียงของตัว อักษร คำที่เกี่ยวข้องกับตัวอักษรและเสียงเหล่านั้น ทั้งยังมีทักษะการฟังจับใจความ ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ รู้จักตัวเลขและนับเลขได้ นับว่าผลลัพธ์การเรียนรู้เหล่านี้เป็นการส่งเสริมอย่างเป็นระบบที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก ช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังเป็นการสร้างสมดุลในการเรียนรู้ทั้งทางสติปัญญาและอารมณ์ นั่นคือความสุขที่เกิดจากการอ่านนิทาน

 

นางรัชดา นาคพุ่ม ครูระดับชั้นอนุบาล โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) เผยว่า “เด็กในชั้นเรียนมีพัฒนาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นมาก มีนิสัยรักการอ่านและมีสมาธิตั้งใจฟังนิทานซึ่งมีความหลาก หลายด้านเนื้อหา เด็กจะอ่านได้ด้วยตนเองในเรื่องขนาดสั้น ส่วนเรื่องยาวครูจะเป็นผู้เล่าให้ฟัง นอก จากนั้นยังมีกิจกรรมทำร่วมกันที่บ้าน โดยครูจะส่งใบงานไปให้ผู้ปกครองทำกิจกรรมกับบุตรหลาน และร่วมประเมินผลกลับมาให้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ช่วยสร้างนิสัยรักการอ่าน เพิ่มทักษะการใช้คำ การนับเลข สร้างเสริมประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ เหมาะสมกับการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กปฐมวัย”

 

ทั้งนี้ทางโครงการฯ ได้ตั้งเป้าขยายผลในอีก 3 โรงเรียน ในเขตกรุงเทพมหานคร ภายในปี 2567 เพื่อพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถทดลองอ่านนิทานของโครงการที่มีมากกว่า 10,000 เรื่อง ใน 59 ภาษา ได้ทางห้องสมุดนิทานดิจิทัล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน Let’s Read  บน Google Play ในระบบแอนดรอยด์ และบน App Store ในระบบ IOS หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 062-7341267

 

ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา