วันศุกร์ ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567, 13.20 น.
นักวิชาการ มข.ชี้ปลาหมอคางดำแพร่ถึงอีสานยากแต่ยังมีโอกาส
“ปลาหมอคางดำ” กลายเป็นคำค้นหายอดนิยมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้บางคนอาจสงสัยว่าปลาชนิดนี้คืออะไร มีที่มาจากไหน รวมถึงมีประโยชน์หรืออันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) ว่า มีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ ปลานิล แต่บริเวณใต้คางจะมีสีดำ และโดยส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่า ปลาชนิดนี้ถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา กระทั่งถูกนำเข้ามายังประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนจนเกิดการแพร่ระบาด แต่ยังไม่เป็นที่สนใจเพราะยังมีจำนวนไม่มากและยังไม่มีผลกระทบต่อการทำการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จนไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ปัจจุบันข้อมูลจากกรมประมงที่มีการรายงาน พบว่า ปลาหมอคางดำ มีการแพร่กระจายออกไปแล้ว 13 จังหวัด ตั้งแต่อ่าวไทยรูปตัวกอ เช่น จังหวัดระยอง ลงไปถึงทางใต้ในจังหวัดสงขลา
“จะสังเกตว่า ปลาหมอคางดำอยู่บริเวณเขตชายฝั่งของประเทศไทยและแม่น้ำ ลำคลองที่เชื่อมต่อกับชายฝั่งเป็นหลัก โดยปัจจัยที่มีการแพร่กระจาย คือ ปลาหมอคางดำสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีความเค็มตั้งแต่ 0-45 PPT คือ อยู่ได้ ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และอาศัยอยู่ได้ดีมากในบริเวณน้ำกร่อย อีกปัจจัย คือ ปลาหมอคางดำมีการฟักไข่ในปาก โดยเฉลี่ย ครั้งหนึ่งจะมีไข่ 50-300 อาจจะถึง 500 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาด ซึ่งตัวผู้จะดูแลตัวอ่อนค่อนข้างดี ทำให้อัตราการรอดตายของลูกสูงขึ้น คอกหนึ่งอาจจะรอดถึง 90-95% และเมื่อลูกออกมาจากปากก็จะตัวโตพอหาอาหารได้เองแล้ว”
ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับปลาหมอคางดำนั้น มีประโยชน์ คือ สามารถนำมาเป็นอาหารให้มนุษย์บริโภคได้ทั้งผลิตเป็นปลาเค็มแดดเดียว น้ำปลา น้ำปลาร้า หรือนำไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างการทำปลาป่น หรือนำไปทำเป็นปลาเหยื่อเลี้ยงปลาเนื้อ แต่อีกด้านปลาหมอคางดำก็มีลักษณะพิเศษ คือ หาอาหารเก่ง กินได้ทั้งพืชและสัตว์ ทำให้ไปแย่งอาหารปลาธรรมชาติ นอกจากนี้ ปลาหมอคางดำยังไปทำลายตัวอ่อนของสัตว์น้ำ กินได้ทั้งลูกกุ้ง ลูกปู ลูกปลา ทำให้สัตว์น้ำในธรรมชาติก็ค่อย ๆ ลดลงไป และตัวมันก็แพร่พันธุ์เร็วและมากยิ่งขึ้น
สำหรับโอกาสที่ปลาหมอคางดำจะแพร่มายังภาคอีสานหรือไม่นั้น หัวหน้าสาขาวิชาประมง ระบุว่า ยังมีโอกาสอยู่แต่การจะแพร่ตามธรรมชาติคงต้องใช้เวลา เนื่องจากภูมิประเทศ และระบบลำน้ำของภาคอีสานไม่ได้เชื่อมต่อ กับภาคกลางมากนัก ซึ่งการแพร่พันธุ์จะเน้นแพร่มาจากแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งระบบลำน้ำปกติแล้วจะไหลออกไปยังแม่น้ำโขง ดังนั้น หากจะแพร่มาภาคอีสานได้อาจจะเข้ามาทางแม่น้ำโขง แต่ตัวการที่ทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ คือ มนุษย์ที่นำพา ปลาหมอคางดำเข้ามา จุดนี้เป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ
“คนเราต้องการอาหารโปรตีน ภาคอีสานการเลี้ยงสัตว์น้ำมันยาก เพราะดินไม่เหมาะสม การเก็บน้ำไม่อยู่ สารพัดอย่าง เพราะฉะนั้นแหล่งโปรตีนเราก็ต้องการ คนอีสานก็ชอบ ถ้าเกิดมาอยู่อีสานก็อาจจะหมดเลยก็ได้ในอนาคต เหมือนหอยเชอรี่ที่เมื่อก่อนก็เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ระบาดไปทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันในอีสานเริ่มขาดแคลนจนมีการเลี้ยงเพราะเป็นเมนูโปรดของหลายคน แต่ทางที่ดีคือ อย่ามีใครนำมาแพร่กระจายในภาคอีสานจะดีที่สุด ”
แนะ 3 วิธีแก้ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ - ผศ.ดร.พรเทพ แนะนำว่า วิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อเผชิญกับเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) อย่างปลาหมอคางดำ สิ่งสำคัญ คือ “เจอต้องจับ” เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดไปยังแหล่งน้ำอื่น ควบคุมไม่ให้สถานการณ์แย่ไปกว่านี้ อีกวิธี คือ การใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ เช่น การนำไปบริโภค ซึ่งภาครัฐอาจเข้ามาช่วยเพิ่มแรงจูงใจได้ด้วยการเพิ่มมูลค่า เพื่อให้ประชาชนต้องการจับปลาหมอคางดำมากยิ่งขึ้น ส่วนสุดท้าย คือ การใช้ปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว หรือ ปลากดทะเล หรือปลานักล่าอื่น เพื่อไปทำลายลูกปลาหมอคางดำได้ แต่อย่างไรก็ต้องมีการพิจารณาและคำนึงถึงความสัมพันธ์กับขนาดและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของปลานักล่าด้วย และขณะเดียวกัน กรมประมงก็อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน เพื่อควบคุมประชากร ลดการแพร่พันธุ์ ซึ่งก็ต้องใช้เวลา
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) เข้ามาและสร้างผลกระทบหลายตัวแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การสร้างจิตสำนึก โดยให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่ง สาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นั้น มีการเรียนการสอนเรื่อง เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ในรายวิชากฎหมายประมง ซึ่งสอนให้นักศึกษาได้รู้ว่า ตามกฎหมายประมงสัตว์น้ำประเภทไหน ครอบครองไม่ได้ เพาะเลี้ยงไม่ได้ และมาตรการควบคุมเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ต้องทำอย่างไร เพราะหลายเคสหากสามารถควบคุมได้ในระบบการเลี้ยงก็จะไม่หลุดออกไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีแนวคิดว่า หากไม่เลี้ยงก็ต้องทำลายไม่นำไปปล่อย และองค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญว่าเป็นสัตว์ที่รุกรานหรือไม่ ก็ไม่ควรเลี้ยงตั้งแต่แรก และต้องกำจัดทันที เพราะหากลงไปในแหล่งน้ำแล้วจะจัดการยาก
“แม้ว่าในสาขาวิชาจะเน้นการเรียนการสอนด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ ภาคอีสาน แต่ในอนาคตก็จะมีการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) เข้าไปในหลักสูตรมากขึ้น เพราะมีการแพร่กระจายในแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษา วิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไปในอนาคตด้วย”
ส่งข่าวได้ที่ email : saowaporn12345@gmail.com และ bat_mamsao@yahoo.com