วันศุกร์ ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:07 น.

การศึกษา

โลกเปลี่ยนไว! เอไอเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน “มหิดลวิทย์” ถอดบทเรียนการใช้เพื่อการศึกษา

วันเสาร์ ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2567, 12.55 น.

โลกเปลี่ยนไว! เอไอเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน “ดร.วรวรงค์” เผย  “มหิดลวิทย์” ถอดบทเรียนการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการศึกษา เน้นพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งระดับบุคคลและสถาบันการศึกษา 

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567    ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) เปิดเผยว่า จากกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้แนวคิด 2568 โอกาสไทย ทำได้จริง เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาและวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย พร้อมกับการผลักดันให้คนไทยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล นั้น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในฐานะโรงเรียนวิทยาศาสตร์ต้นแบบของรัฐ ได้ถอดบทเรียนการดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ AI และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานประชุมวิชาการ Thailand-Japan Education Leaders Symposium (TJ-ELS 2024) ครั้งที่ 3 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล

ดร.วรวรงค์ กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีความสามารถในการเรียนรู้และให้เหตุผลคล้ายกับมนุษย์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนรายบุคคลได้ การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และช่วยลดเวลาและภาระครู เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนได้ แต่ก็ยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ไม่มีรูปแบบสำเร็จรูป และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งบุคลากรทางการศึกษายังต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน และถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาทั้งในระดับบุคคลและสถาบันการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 

“MWIT เริ่มใช้ AI ตั้งแต่ ChatGPT เปิดตัวเมื่อ 2 ปีก่อน และดำเนินการทดลองใช้ทั้งโรงเรียนในสามมิติ คือ การจัดการเรียนการสอน การทำโครงงานวิจัย และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร โดยมุ่งเน้นการค้นหารูปแบบและวิธีการเรียนรู้ที่เพิ่มคุณภาพการเรียนรู้ระหว่างครูและผู้เรียน เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน การนำ AI ทั้ง Machine Learning และ Deep Learning มาเป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานในองค์กร ตามลำดับ ซึ่งเราได้ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องในองค์กร” ดร.วรวรงค์ กล่าว

ดร.สาโรจน์ บุญเส็ง หัวหน้าฝ่ายบริหารการเรียนรู้และระบบโรงเรียนประจำ และครูผู้สอนวิชาเคมีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้นำเสนอผลการถอดบทเรียนของ MWIT ในงาน TJ-ELS 2024 เรื่อง “AI in Action: Transforming Education at a Science High School, MWIT” โดยเล่าถึงตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ในการสร้างหลักสูตรของโรงเรียนโดยค้นหาแนวทางการประเมินสมรรถนะผู้เรียนโดยการสังเกตพฤติกรรม การสร้างคำถามเพื่อนำมาสู่การอภิปรายในชั้นเรียน การสร้างโค้ดเพื่อนำเสนอข้อมูลกราฟและสมการ การปรับปรุงคุณภาพเนื้อหา การให้คำแนะนำเฉพาะบุคคล และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรายวิชา การสืบค้นข้อมูลและสนับสนุนการเขียนโครงงานวิจัยของนักเรียน

ดร.สาโรจน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงเรียน เราได้ใช้งาน AI ทำงานที่หลากหลาย เช่น การเขียนโครงการ การสร้างขั้นตอนการทำงาน (Flow Chart) การตอบอีเมล์ ร่างจดหมายราชการ การสร้างกำหนดการกิจกรรม การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การสร้างสคริปต์ของพิธีกร ซึ่งเทคโนโลยี AI ช่วยให้บุคลากรในโรงเรียนประหยัดเวลาในการทำงานที่ซับซ้อน สร้างคุณค่าของการทำงานได้มากขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของนักเรียน แต่ยังส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาเชิงรุกในยุคดิจิทัล
 

หน้าแรก » การศึกษา