วันอาทิตย์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:49 น.

การศึกษา

“บางกอกแอร์เวย์ส”  ตั้งเป้าผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน โชว์ยอดจองล่วงหน้าสมุยโต14%

วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568, 22.26 น.

“บางกอกแอร์เวย์ส”  ตั้งเป้าผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน โชว์ยอดจองล่วงหน้าสมุยโต14%

 

        

นายพุฒิพงศ์  ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยถึงเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทฯ คาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน 48,077 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 82% ขนส่งผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน ราคา บัตรโดยสารเฉลี่ยประมาณ 4,200 บาทต่อที่นั่ง ทั้งนี้ แนวโน้มการเดินทางในปีนี้ เส้นทางสมุย ยังคงเป็น เส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยมีการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน 2568 เพิ่มขึ้น 14% โดยบริษัทฯ วางแผนกลับมาให้บริการเส้นทาง สมุย-กัวลาลัมเปอร์ วันละ 1 เที่ยวบิน ในไตรมาส 4 เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารจากยุโรปที่เดินทางผ่านทางสนามบินกัวลาลัมเปอร์

           

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทฯ ให้บริการเที่ยวบินสู่ 19 จุดหมายปลายทาง ประกอบด้วยภายในประเทศ 11 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ตราด ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย หาดใหญ่ อู่ตะเภา และจุดหมายปลายทางต่างประเทศ 8 แห่ง ได้แก่ มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ฮ่องกง เฉิงตู ฉงชิ่ง บริษัทฯ ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน ปัจจุบันมีสายการ บินพันธมิตร (Codeshare Partners) รวมทั้งสิ้นจำนวน 30 สายการบิน และมีสายการบินข้อตกลงร่วม (Interline Partners) กว่า 70 สายการบินทั่วโลก ด้านบริหารจัดการฝูงบินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ปีนี้ คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเครื่องบินรวมทั้งสิ้นรวม 25 ลำ และมีแผนจะปรับฝูงบิน (Re-fleet) เครื่องบินรุ่น ATR72-600 รวมทั้งสิ้น 12 ลำ โดยมีกำหนดทยอยส่ง มอบระหว่างปี 2569 ถึงปี 2571 

       

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนการพัฒนาศักยภาพธุรกิจสนามบิน บริษัทฯ มีแผนปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ส่วนสนามบินตราดมีแผนขยายรันเวย์ เพื่อให้สามารถ รองรับเครื่องบินแบบไอพ่นได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ สำหรับแผนการลงทุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภานั้น ล่าสุด บริษัทฯ และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการร่วมลง นามบันทึกความเข้าใจ เพื่อยกระดับความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศ ไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำศักยภาพสายการบินชั้นนำระดับภูมิภาค บริษัทฯ เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัด งานประชุมระดับนานาชาติ "AAPA Assembly of President 2025" ครั้งที่ 69 ระหว่างวันที่ 14 -15 พฤศจิกายน 2568 โดยมีผู้นำระดับสูงของสายการบินสมาชิกกว่า 250 ท่าน จาก 18 สายการบิน รวมทั้ง ตัวแทนจากองค์กรกำกับดูแลระดับโลกอย่าง ICAO และ IATA หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบิน ผู้ผลิตอากาศ ยานชั้นนำ และพันธมิตรทางธุรกิจระดับโลก เข้าร่วมงาน ซึ่งการประชุมนี้นับเป็นเวทียุทธศาสตร์ที่สำคัญของ อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค

       

คาดการณ์ว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวเดินทางในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะดีขึ้น โดยมีการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้าของบางกอกแอร์เวย์ส ที่สัดส่วนการเติบโตกว่า ร้อยละ 12 จากปีที่ผ่านมา (2566) ซึ่งมียอดการจองต่อเนื่องตลอดถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 อย่างไรก็ตาม เส้นทางสมุยเป็นเส้นทางสำคัญที่ทำรายได้โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567 มีจำนวนเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุยเฉลี่ยวันละ 41 เที่ยวบินทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศรวมทุกสายการบิน และบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารในเส้นทางสมุยประมาณ ร้อยละ 70 และมีสัดส่วนจำนวนเที่ยวบินประมาณร้อยละ 60 สำหรับผู้โดยสารของสนามบินสมุย ใน ไตรมาส 2 ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566  ร้อยละ 15 และในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2567 เปรียบเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22 ซึ่งเปรียบเทียบกับปี 2562 (ก่อนช่วงเกิดโควิด) เพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 11  นอกจากนี้ ปริมาณเที่ยวบิน ไตรมาส 2 ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ปี2566 ร้อยละ 13 “ นายพุฒิพงศ์  กล่าว

       

อย่างไรก็ตาม นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมแผนโครงการพัฒนาสนามบินสมุย ทั้งนี้ เพื่อขยายศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางบินจากสนามบินสมุยไปยังต่างประเทศ ประกอบด้วย ประเทศจีน  สิงคโปร์ ฮ่องกงจึงมีแผนเพิ่มเที่ยวบิน เข้า – ออก สนามบินสมุยจากเดิม 50-60 เที่ยวบินเพิ่มเป็นเป็น 73 เที่ยวบินต่อวัน โดยจะใช้เวลาดำเนินการปรับปรุงประมาณ 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 โดยใช้งบประมาณลงทุน 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างได้ช่วงปี 2568 เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้ 6,000,000 คนต่อปี นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีแผนที่จะเสริมศักยภาพสนามบินตราด ซึ่งเป็นสนามบินสาธารณะแห่งที่ 3 ภายใต้การบริหารงานของบริษัทฯ โดยมีแผนการดำเนินงานด้านการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและแผนการขยายรันเวย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับเครื่องบินประเภทไอพ่นขนาดเล็ก จากเดิม 1,800 เมตรเพิ่มเป็น 2,100 เมตรในงบการลงทุนมูลค่า 800 ล้านบาท

 

หน้าแรก » การศึกษา