การศึกษา
รู้เท่าทันก๊าซเรดอนก่อมะเร็ง หลังแผ่นดินไหว อาจแทรกผ่านรอยแยกอาคาร
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

รู้เท่าทันก๊าซเรดอนก่อมะเร็ง หลังแผ่นดินไหว อาจแทรกผ่านรอยแยกอาคาร
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 แรงสั่นสะเทือนส่งผลต่อประเทศไทยทำให้เกิดความเสียหายของอาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะเขตเมืองที่ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนอย่างกรุงเทพมหานครย่อมมีโอกาสที่รอยแยกใต้พื้นดินจะเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคืออาจส่งผลให้ก๊าซเรดอนที่อยู่ใต้พื้นดินฟุ้งกระจายเข้าสู่ที่อยู่อาศัยและอาคารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นได้ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพจากก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ควรติดตามและเฝ้าระวัง
อ.ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า เรดอน (Radon) เป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่อยู่ในเปลือกโลก เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในดินและหิน โดยปกติจะฟุ้งกระจายผ่านรอยร้าวของพื้นดิน รอยแยกในอาคารและพื้นบ้านเข้าสู่บรรยากาศโดยมีคุณสมบัติไม่มีสี กลิ่น หรือรส ทำให้มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้โดยตรง
แม้จะไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่ก๊าซชนิดนี้กลับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยถือเป็นสาเหตุอันดับสองรองจากการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวต่อก๊าซเรดอนจนเกินควร เนื่องจากโรคมะเร็งปอดนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ใช่เพียงก๊าซเรดอนเพียงอย่างเดียว
“เมื่อเราหายใจเอาก๊าซเรดอนเข้าไป เรดอนจะเกิดการสลายตัวให้รังสีแอลฟาและเกิดเป็นธาตุกัมมันตรังสีตัวใหม่ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งและสลายตัวให้ธาตุกัมมันตรังสีลูกหลานต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นธาตุตะกั่วซึ่งเป็นธาตุเสถียรและสะสมอยู่ในถุงลมปอด เป็นผลให้เซลล์ที่ปอดจะได้รับอันตรายจากทั้งรังสีแอลฟาและพิษตะกั่ว ซึ่งจะนำไปสู่การทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้” อ.ดร.รวิวรรณ อธิบาย
ระดับความเข้มข้นของก๊าซเรดอนที่เข้าสู่อาคารนั้นแตกต่างกันไปตามชนิดของวัสดุและระดับความสูงของพื้นที่ภายในอาคาร โดยพื้นที่ชั้นล่างที่อยู่ติดกับพื้นดินมักมีค่าความเข้มข้นสูงกว่าชั้นบน ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนโดยเฉลี่ยทั่วโลกภายในอาคารอยู่ที่ 40 Bq/m³ หากมีค่ามากกว่า 160 Bq/m³ จะถือว่าเป็นระดับที่มีความเสี่ยง ส่วนค่าก๊าซเรดอนภายนอกอาคารอยู่ที่ประมาณ 10 Bq/m³
“แม้แต่ในพื้นที่เดียวกัน ปริมาณก๊าซเรดอนที่ระดับพื้นดิน ใต้ดิน หรือที่ระดับชั้นต่างกันของอาคารก็มีปริมาณแตกต่างกัน ชั้นล่างของบ้าน อย่างชั้นใต้ดินและชั้น 1 มีแนวโน้มจะมีปริมาณก๊าซเรดอนมากที่สุด ดังนั้น หากตามพื้นที่มีรอยแตก รอยต่อ อาจทำให้ก๊าซเรดอนสามารถแพร่เข้ามาได้ในอาคารบ้านเรือนได้” อ.ดร.รวิวรรณกล่าว
สำหรับการตรวจวัดก๊าซเรดอน อ.ดร.รวิวรรณ เผยว่า สามารถทำได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือการใช้แผ่นฟิล์ม CR39 ซึ่งสามารถตรวจจับร่องรอยของอนุภาคแอลฟาที่ปลดปล่อยจากก๊าซเรดอน โดยการนำแผ่น CR39 ใส่ในอุปกรณ์ที่ยอมให้ก๊าซเรดอนผ่านเข้าไปได้ แล้วนำไปวางไว้ในบริเวณที่ต้องการตรวจสอบเป็นระยะเวลา 1–3 เดือน จากนั้นจึงนำแผ่นฟิล์มดังกล่าวมานับจำนวนร่องรอยและคำนวณค่าความเข้มข้นของเรดอนต่อไป วิธีนี้แม้จะใช้เวลานานและต้องวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ แต่มีข้อดีคือมีต้นทุนต่ำ
อีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือการใช้เครื่องวัดก๊าซเรดอนแบบเรียลไทม์ คือ เครื่อง RAD7 ซึ่งสามารถดูดอากาศเข้ามาตรวจวัดและแสดงค่าความเข้มข้นของเรดอนได้ทันที นอกจากนี้ เครื่อง RAD7 ยังสามารถใช้ตรวจวัดก๊าซเรดอนในตัวอย่างน้ำได้อีกด้วย โดยเฉพาะน้ำจากใต้ดิน เช่น น้ำบาดาลหรือน้ำพุร้อน ซึ่งมักพบว่ามีปริมาณก๊าซเรดอนสูง
ในกรณีที่ต้องการวัดระดับก๊าซเรดอนใต้พื้นดินเพื่อใช้ในระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า สามารถใช้เครื่องวัดชนิดพิเศษที่เรียกว่า RAD in soil ซึ่งทำงานโดยการนำอุปกรณ์ลงไปในชั้นดินเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของปริมาณก๊าซเรดอน ซึ่งในบางกรณีสามารถใช้เป็นสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้การเกิดแผ่นดินไหวได้
“ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีเครื่องวัดที่ทันสมัยครบครัน เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่มีระบบสอบเทียบความเข้มข้นกัมมันตภาพของเรดอน พร้อมให้บริการตรวจวัดปริมาณเรดอนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการให้บริการการตรวจวัดปริมาณก๊าซเรดอนในอาคาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและคลายความวิตกกังวลแก่ประชาชน” อ.ดร.รวิวรรณ กล่าว
รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แนะนำถึงการป้องกันอันตรายจากก๊าซเรดอนว่า สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ก่อนที่เหตุการณ์ผิดปกติจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสะสมของก๊าซภายในอาคาร แนวทางพื้นฐานที่สามารถทำได้ทันที คือ การเปิดหน้าต่างหรือช่องระบายอากาศให้มีการถ่ายเทอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ชั้นล่างหรือบริเวณที่ติดกับพื้นดิน ซึ่งมีแนวโน้มที่ก๊าซเรดอนจะแพร่ผ่านเข้ามาได้มากกว่าชั้นบน
“การเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศเป็นประจำจะช่วยลดการสะสมของก๊าซเรดอนได้ หากเกิดพบรอยแตกหรือรอยร้าวบริเวณพื้นหรือผนังบ้าน ควรเปิดหน้าเพื่อระบายอากาศ และรีบซ่อมแซมรอยแตกหรือรอยร้าวต่างๆ ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซเรดอนจากพื้นดินหรือจากพื้นผิวของรอยแตกแพร่ผ่านเข้ามาภายในบ้านได้”
ในกรณีของบ้านที่มีใต้ถุนหรือยกพื้นสูง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการรับก๊าซเรดอนจากพื้นดินโดยตรง แนวทางป้องกันที่ทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนไม่สูง คือการใช้วัสดุปิดพื้น เช่น เสื่อน้ำมัน หรืออุปกรณ์ปูพื้นที่หาซื้อได้ตามร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป ปูทับบริเวณพื้นดินใต้ถุนบ้าน เพื่อช่วยลดการแทรกซึมของก๊าซขึ้นสู่พื้นที่ใช้งานภายในบ้าน
รศ.นเรศร์ ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายว่า ในระดับประเทศควรมีการพัฒนาเครือข่ายสำหรับศึกษาความสัมพันธ์ของการเกิดแผ่นดินไหวควบคู่กับการตรวจวัดก๊าซเรดอนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ และจัดให้มีระบบเครือข่ายการเฝ้าระวังที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความพร้อมในการเผชิญเหตุและป้องกันภัยพิบัติในอนาคตอย่างยั่งยืน
สำหรับประชาชนที่มีความประสงค์จะตรวจวัดระดับก๊าซเรดอนในอาคารบ้านเรือนหรือในบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง สามารถติดต่อขอรับบริการ ได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือ เทคนิคการตรวจวัด และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ติดต่อภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่ โทร.0-2218-6781 หรือ E-mail: nutech.chula@gmail.com
ส่งข่าวได้ที่ email : saowaporn12345@gmail.com และ bat_mamsao@yahoo.com
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การศึกษา
Top 5 ข่าวการศึกษา ![]()
- ม.เกษตรศาสตร์ คว้า 2 รางวัลระดับนานาชาติจาก “เจนีวา” 25 เม.ย. 2568
- ศิษย์เก่าผู้ทรงเกียรติ และผู้บริหารดัลลิช คอลเลจ ร่วมงานสังสรรค์ศิษย์เก่า ฉลองมรดกทางการศึกษา และต้อนรับโรงเรียนนานาชาติ ดัลลิช คอลเลจ กรุงเทพ 25 เม.ย. 2568
- เตรียมดื่มด่ำกับเทศกาลภาพยนตร์รัสเซีย 2568 หลากรส ที่มาเยือนกรุงเทพฯ 25-27 เมษายนนี้ ณ โรงภาพยนตร์ House Samyan 25 เม.ย. 2568
- “สุดาวรรณ” ชวนย้อนวันวาน ยลวิถีย่านกะดีจีน – คลองสาน ณ วัดประยุรฯ ฉลองครบรอบ 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เที่ยวงานวัด ไหว้พระรับพร 25 เม.ย. 2568
- สศร.ชวนร่วมกิจกรรม “77+1 ศ.ปรีชา เถาทอง” ครบรอบวันคล้ายวันเกิด ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2552 25 เม.ย. 2568
ข่าวในหมวดการศึกษา ![]()
วธ.เปิด “มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” วันแรกคึกคัก เจรจาธุรกิจ 70 คู่ ขยายตลาดสินค้าท้องถิ่นสู่สากล 18:15 น.
- มูลนิธิรามาธิบดีฯ รับมอบเงินสมทบทุน สร้างอาคารโรงพยาบาล 12:59 น.
- “เทคโนโลยีช่วยทุเรียนไทย" จากห้องแล็บราชมงคลสุวรรณภูมิ สู่สวนจันทบุรี 10:48 น.
- กรมศิลป์มอบเงินชดเชยการโยกย้ายชุมชนรอบโบราณสถานวัดช้าง อยุธยา 08:19 น.
- "วธ." เปิดเกมรุก Soft Power ไทย ดันผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมเจาะตลาด HoReCa 17:34 น.