วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 09:29 น.

การศึกษา

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก  อีกทางเลือกของความมั่นคงทางพลังงาน

วันเสาร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2568, 06.08 น.

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก  อีกทางเลือกของความมั่นคงทางพลังงาน

              

ในการเสวนาวิชาการ i-Forum ครั้งที่ 7 เรื่อง SMR นิวเคลียร์ขนาดเล็ก ดีจริงหรือ?  ณ ห้องประชุม 5404 ชั้น 4 อาคารภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล (อาคาร 5) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายอรินทม์ เตมียกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผศ.ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.จีมา ศรลัมพ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

              

โดยมีสาระสำคัญสรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Reactor: SMR ว่า หากสามารถเตรียมความพร้อมในการวางระบบ มีความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีการทำงานโดยยึดหลักวิชาการเรื่องความปลอดภัย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ความมั่นคงทางพลังงาน ความปลอดภัย ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP) ในปี พ.ศ. 2580 จะมีการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก

              

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทั้งศึกษาเรื่องความเหมาะสม และการพัฒนาบุคลากรรองรับสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ซึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก จะมีอายุใช้งาน 60 – 80 ปี สามารถผลิตไฟฟ้ามาเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และพลังงานฟอสซิล

              

รศ.ดร.จีมา ศรลัมพ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศที่เรียกว่า PDP สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก การผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล มีหลากหลายเรื่องที่คนไทยจะต้องเตรียมตัว เราควรได้รับความรู้เรื่องการจัดการกากของเสียนิวเคลียร์อย่างไรจึงเหมาะสม เราควรรู้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมที่มีความปลอดภัยสูงมาก หลังจากที่มีการผลิตแบบ Module มันสามารถใช้งานง่าย มีความปลอดภัยสูง ความผิดพลาดหลายอย่างจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ผ่านมาได้รับการแก้ไขจากการที่เราใช้เทคโนโลยีปัจจุบัน เรามีเวลาอีก 10 ปีที่จะผลิตกำลังคนมาช่วยประเทศให้พร้อมที่จะรับเทคโนโลยีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

              

ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีหลายหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. เริ่มมีวิชาเกี่ยวกับ Nuclear Waste Management and Technology สอนนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้รู้จักการจัดการของเสียนิวเคลียร์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม เมื่อเรามั่นใจเรื่องการจัดการของเสียจากนิวเคลียร์ การจะมีโรงไฟฟ้าจากนิวเคลียร์จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากและน่ากลัวอย่างที่เกิดขึ้น และนอกจากที่ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแล้ว เรายังมีวิชาที่เปิดสอนมาต่อเนื่องยาวนานที่ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งตรงนี้ก็มีส่วนร่วมในการจัดการกับวัตถุที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ นิวเคลียร์เพื่อสันติ นิวเคลียร์เพื่ออุตสาหกรรม หรือการเกษตรต่าง ๆ มากมาย เรามีเพื่อนบ้านอย่างสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งเป็นระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีความพร้อมมากที่จะมีส่วนในการจัดการนิวเคลียร์หลากหลายรูปแบบที่จะพัฒนาคนขึ้นมาให้ประเทศชาติ

 

                       

ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com    และ  bat_mamsao@yahoo.com

 

หน้าแรก » การศึกษา