วันพุธ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 05:15 น.

การศึกษา

"ท่านผู้หญิงอรอนงค์" ผู้แทนพระองค์เปิดโครงการ "มรดกโลก มรดกธรรม" ที่วัดวรเชษฐารามกรุงเก่า

วันอังคาร ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 15.01 น.

เมื่อวันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม 2568 เวลา 06.29 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ พลตรีหญิงท่านผู้หญิงอรอนงค์ ปิยนาฏวชิรพัทธ์ เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในพิธีตักบาตร และบวงสรวง ณ วัดวรเชษฐาราม กับเปิดโครงการ “มรดกโลก มรดกธรรม” ณ วัดโลกยสุธาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในการนี้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ องค์ประธานอำนวยการโครงการส่งเสริมการจัดการมรดกวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือ “โครงการมรดกโลก มรดกธรรม” ได้มอบหมายให้พระธรรมวชิราจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการมรดกวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา และพระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม เลขานุการโครงการมรดกโลก มรดกธรรม ได้ดำเนินการจัดเตรียมงานเปิดโครงการและกล่าวรายงานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโครงการ รวมทั้งมอบของที่ระลึกให้แก่พลตรีหญิงท่านผู้หญิงอรอนงค์ ปิยนาฏวชิรพัทธ์ อาทิพระเครื่อง หนังสือประวัติถนนเจริญกรุง หนังสือเส้นทางสู่เซน และหนังสือการจัดการมรดกวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา 

โครงการบูรณปฏิสังขรณ์ ปูชนียวัตถุ และปรับปรุงภูมิทัศนวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้โครงการ “มรดกโลก มรดกธรรม” เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และเป็นการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 

โครงการฯ มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์มรดกธรรมควบคู่กับมรดกโลก โดยใช้หลักการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะรากฐานทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสในอดีตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงเน้นย้ำถึงคุณค่าของโบราณสถานและโบราณวัตถุว่าเป็นสมบัติของชาติที่ควรอนุรักษ์อย่างจริงจัง

สำหรับประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งด้านวัฒนธรรมลำดับต้นของโลก โดยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมถึง 5 แห่ง ซึ่ง 4  แห่งมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด เช่น เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และยังมีแหล่งโบราณคดีและย่านเมืองเก่าอีก 7  แห่ง เช่น จังหวัดนครพนม เชียงใหม่ สงขลา พระบรมธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช  วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เป็นต้น โครงการนี้จึงมุ่งส่งเสริมให้การจัดการวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่อยู่ในความดูแลของรัฐ หากยังเปิดโอกาสให้ชุมชน โดยเฉพาะคณะสงฆ์ และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์

สำหรับวัดวรเชษฐาราม เป็นวัดร้าง มีฐานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ตำบลประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระเอกาทศรถทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2136 สันนิษฐานว่าเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงสร้างเป็นอนุสรณ์ เดิมชื่อ วัดเจ้าเชษฐ์

ภายในวัดมีเจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด อายุของเจดีย์ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20–22 มีวิหารตั้งอยู่ด้านหน้า โดยมีอุโบสถอยู่ขนานกัน และวัดโลกยสุธาราม เป็นวัดที่อยู่ใกล้กับวัดวรเชษฐาราม ชาวบ้านเรียกว่าวัดพระนอน ตั้งอยู่ตำบลประตูชัย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานพระนอนกลางแจ้ง ในลักษณะสีหไสยาสน์ ที่ใหญ่ที่สุดในเกาะเมืองอยุธยา เดิมชื่อ วัดสุทธาวาส แต่ในช่วงอยุธยาตอนปลาย ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดโลกสุธา

 
 

หน้าแรก » การศึกษา