วันศุกร์ ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:11 น.

การศึกษา

“ศุภชัย” ร่วมหารือ ม.หนานจิง หนุนความร่วมมือการศึกษาไทย-จีน มุ่งพัฒนาความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและวิจัย

วันพฤหัสบดี ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 12.02 น.

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมหารือประเด็นความร่วมมือด้านการศึกษา ระหว่าง ไทย-จีน กับ Prof. Tan Tieniu (ถาน เถี่ย หนิว) ประธานสภามหาวิทยาลัยหนานจิง และเลขาธิการ พรรคประจำมหาวิทยาลัยหนานจิง (Chair of Nanjing University CPC Council) และคณะผู้แทนจาก Nanjing University (NJU) โดยมี ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ อธิการบดี  รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี ​ผศ.ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต นางสาวพสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เข้าร่วมการหารือ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
 
นายศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายและการส่งเสริมความร่วมมือด้าน อววน. กับ จีน ในปัจจุบันกระทรวง อว. กำกับดูแลทั้งสถาบัน หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย 16 แห่ง และมหาวิทยาลัยของรัฐรวม 154 แห่ง โดยมีนโยบายมุ่งผลิตและพัฒนากำลังคน สร้างองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมในด้านการอุดมศึกษา มุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ให้ก้าวทันต่อบริบทโลก รวมทั้งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่ นอกจากนี้ยังมุ่งให้สถาบันอุดมศึกษามีบทบาทใน การ upskill/re-skill ของคนวัยทำงานเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“ การขับเคลื่อนงานตามพันธกิจของกระทรวง อว. ต้องอาศัยกลไกความร่วมมือกับต่างประเทศที่จะช่วยเสริมการดำเนินงานตามภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งความร่วมมือด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับจีนนั้น นับเป็นความร่วมมือในอันดับต้นๆ ที่ กระทรวง อว. ให้ความสำคัญสูง โดยมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน และ Chinese Academy of Science (CAS หรือ แคส) นอกจากนี้ ในด้านการศึกษาและวัฒนธรรม กระทรวง อว. ยังมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการของจีน และซีแอลอีซี (Center for Language Education and Cooperation – CLEC) สำหรับในระดับมหาวิทยาลัยและสถาบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยรวมถึงมหาวิทยาลัยสวนดุสิตก็มีการทำความร่วมมือกับฝ่ายจีนที่เข้มแข็ง โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิตเป็นหนึ่งใน 16 มหาวิทยาลัยที่มีการจัดตั้งสถาบันขงจื่อ” ผู้ช่วย รมว. กล่าว
 
Prof. Tan Tieniu (ถาน เถี่ย หนิว) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหนานจิงเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เข้มแข็ง มีคุณภาพทั้งในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย จัดอยู่ใน Top10 ของประเทศจีนและอยู่ในอันดับโลก อีกทั้งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยหนานจิงกำลังพิจารณาให้การสนับสนุนในการขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์ การทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์และนักวิจัย รวมถึงการทำวิจัยร่วมหรือการพัฒนาหลักสูตรร่วมระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศในอนาคต

“ความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน จีนและไทยนั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันดั่งสุภาษิตที่ว่า “จีนไทยใช่อื่นใด พี่น้องกัน” และถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยสวนดุสิตจะมีความเชี่ยวชาญที่ต่างจาก Nanjing University แต่ก็มิใช่อุปสรรคต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน  Nanjing University มีความพร้อมทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยี มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อาทิ การบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตรธรรมชาติ วิทยาการ AI (NJU จัดอยู่ใน Top 3 ของมหาวิทยาลัยในจีนที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI) และมีนักศึกษาต่างชาติศึกษาอยู่ที่ NJU มากกว่า 1,300 คน และในจำนวนนี้มีนักศึกษาไทยมากเป็นอันดับ 4 ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาสู่ความเป็นนานาชาติของ NJU  ด้วยเหตุนี้ NJU จึงพร้อมจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์โดยเฉพาะ AI พลังงานทดแทน การจัดการสิ่งแวดล้อม และนิติศาสตร์“ Prof. Tan Tieniu (ถาน เถี่ย หนิว) กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หลังจากการหารือความร่วมมือ คณะผู้แทนของ Nanjing University ได้มีโอกาสเยี่ยมชมบูธนิทรรศการในงาน “อาณาจักรแห่งรส: จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก” ซึ่ง อว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิตจัดงานดังกล่าวภายใต้การขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
 
 

หน้าแรก » การศึกษา