วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 21:42 น.

ต่างประเทศ

นักวิการดังชี้ “เกิดยาก” การแยกเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ

วันพฤหัสบดี ที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 23.51 น.

การแยกเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ “เกิดยาก” แม้รัฐบาลทรัมป์จะพูดให้ดูมีแนวโน้มก็ตาม

วอชิงตัน, 8 ก.ค. (ซินหัว) — การแยกตัวทางการเงินหรือทางเศรษฐกิจ (financial decoupling) ระหว่างสหรัฐฯและจีนนั้น “เป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น” แม้คณะบริหารของทรัมป์จะกล่าวถ้อยคำที่ทำให้ดูมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นก็ตาม นิโคลัส ลาร์ดี นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (PIIE) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐอเมริกากล่าว

“แม้จะมีการกำหนดภาษีและข้อจำกัดด้านการลงทุนมากมายระหว่างสองประเทศ ทว่าการบูรณาการของจีนเข้ากับตลาดการเงินโลกก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็ว” บทความโดย ลาร์ดี และหวงเทียนเหลย นักวิเคราะห์วิจัย ที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (2 ก.ค.) เขียนไว้เช่นนี้

“แท้จริงแล้วการบูรณาการดังกล่าวปรากฏในตัวชี้วัดส่วนใหญ่และแสดงความคืบหน้าที่รวดเร็วยิ่งขึ้นช่วงปีที่ผ่านมา” พวกเขากล่าวพร้อมชี้ว่าบรรดาสถาบันการเงินที่อยู่ในสหรัฐฯ กำลังเข้าร่วมกระบวนการนี้อย่างแข็งขัน และด้วยเหตุนี้ การแยกตัวทางการเงินระหว่างสหรัฐฯ และจีนจึง “ไม่ใช่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น”

ลาร์ดีและหวงกล่าวว่า การยกตัวอย่างให้เห็นการบูรณาการอย่างลึกซึ้งของจีนในตลาดการเงินโลกที่ดีที่สุด คือการที่สหรัฐฯ และสถาบันการเงินต่างประเทศอื่นๆ เข้ามามีบทบาทในจีน “เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล” อันเป็นผลจากหน่วยงานกำกับดูแลของจีนที่ได้ผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการและปัจจัยอื่นๆ ในปี 2019 และ 2020

พวกเขาได้ยกตัวอย่างมากมาย เช่น กรณีของเพย์พาล (PayPal) ที่เข้ามาถือหุ้นถึงร้อยละ 70 ในบริษัทจีน กรณีของโกเพย์ (GoPay) ผู้ให้บริการการชำระเงินรายเล็กของจีน และ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งในเดือนมีนาคม 2020 ได้รับการอนุมัติให้เพิ่มสัดส่วนจากผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่ร้อยละ 33 ในบริษัทหลักทรัพย์ร่วมทุนกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 51

นอกเหนือจากการปฏิรูปเชิงกฎระเบียบแล้ว ผู้เขียนยังแย้งว่าการบูรณาการของจีนกับตลาดการเงินโลกนั้นสะท้อนให้เห็นการเติบโตของทุนเอกชนที่ไหลข้ามพรมแดนเข้ามา ซึ่งไม่เพียงเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เท่านั้น แต่ยังเป็นเงินทุนสำหรับการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ด้วย

พวกเขายังชี้ว่าไม่กี่ปีมานี้ ต่างชาติมีสัดส่วนการถือครองหุ้นและพันธบัตรจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแตะระดับ 4.2 ล้านล้านหยวน (ราว 18.69 ล้านล้านบาท) ในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2020 ทั้งยังเสริมว่าตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

บริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันหลายแห่งมีส่วนร่วมในการลงทุนโดยตรงในประเทศจีน โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมที่ 1.41 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4.4 แสนล้านบาท) ในปี 2019 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสถิติปี 2019 ที่ 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4 แสนล้านบาท)

ลาร์ดีและหวงระบุพร้อมเสริมว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในจีน รวมถึงการลงทุนจากบรรดาบริษัทสหรัฐฯ นั้นมีแนวโน้มลดลงในปี 2020 อันเป็นผลจากการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ที่เป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19

บทความยังย้ำถึงอันตรายของการสรุปข้อมูลโดยอ้างอิงหลักฐานที่ไม่เป็นความจริงและก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งผู้เขียนเน้นว่าสัญญาณหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าจะเกิดการแยกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯและจีน นั่นคือการลงทุนโดยตรงของจีนในสหรัฐฯ ต้องลงลดอย่างมหาศาล

ในบทวิเคราะห์ ลาร์ดีและหวงยังแย้งว่าการขัดขวางบริษัทจีนไม่ให้เข้าถึงตลาดทุนในสหรัฐฯ ไม่ใช่การกระทำที่นำไปสู่การแยกตัว และจะไม่ทำให้การเติบโตของจีนชะลอตัวลงอย่างแน่นอน เนื่องด้วยเหตุผลดังนี้

อันดับแรก ทุนจำนวนมากที่ไม่ใช่ทุนส่วนใหญ่ที่ระดมโดยบริษัทจีนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นมาจากนักลงทุนต่างชาติ ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐฯ ประการที่สอง การถอดบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่อาจขัดขวางบริษัทจีนไม่ให้เข้าถึงเงินทุนสหรัฐฯได้ เนื่องจากบริษัทจีนยังสามารถเข้าถึงทุนของสหรัฐฯ ได้ผ่านบริษัทหุ้นเอกชนในสหรัฐฯ

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทจีนหลายแห่งที่ออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ยังโยกย้ายไปยังตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งชาวอเมริกันและนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนกับบริษัทต่อได้ บทความระบุเช่นนี้