วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 04:27 น.

ต่างประเทศ

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเมียนมายันสู้ไม่ถอย

วันพฤหัสบดี ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2564, 14.16 น.

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2564 กลุ่มนักเคลื่อนไหวสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในเมียนมาได้ให้คำมั่นว่าจะยังคงมีการชุมนุมประท้วงต่อไป แม้ว่านางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษของสหประชาชาติ (UN) ประจำเมียนมาระบุว่า ขณะนี้มีผู้ประท้วงเสียชีวิตมากถึง 38 ราย โดยตัวเลขนี้ถือเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารและเข้ายึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา        
           
"เรารู้ดีว่าเราอาจตายได้ทุกเมื่อจากการถูกยิงด้วยกระสุนจริง แต่การมีชีวิตอยู่ในเงื้อมมือของคณะรัฐประหารนั้นไร้ซึ่งความหมายใดๆ เราจึงเลือกหนีจากการถูกกดขี่ด้วยหนทางที่อันตรายเช่นนี้ เราจะต่อสู้กับคณะรัฐประหารด้วยทุกวิถีทาง เป้าหมายสูงสุดของเราคือการถอนรากถอนโคนระบอบรัฐประหารให้สิ้นซาก" นายหม่อง ซองคา นักเคลื่อนไหวชาวเมียนมากล่าว โดยเขาเป็นหนึ่งในคณะผู้ประสานงานการนัดหยุดงานของแรงงานชาวเมียนมา ซึ่งได้ประกาศนัดชุมนุมประท้วงอีกครั้งในวันนี้
          
ด้านแกนนำนักเคลื่อนไหวรายอื่นๆ ก็ได้มีการโพสต์ข้อความในสื่อโซเชียลมีเดียว่าจะมีการนัดชุมนุมประท้วงอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในเมืองย่างกุ้ง โดยฝ่ายผู้สนับสนุนนางออง ซาน ซูจี ผู้ชนะการเลือกตั้งได้มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจี และขอให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นในเดือนพ.ย. 2563
          
ทั้งนี้มีรายงานว่า มีประชาชนในเมืองมัณฑะเลย์พบเห็นเครื่องบินเจ็ตจำนวน 5 ลำบินโฉบผ่านในระยะต่ำเมื่อเช้าวันนี้ โดยคาดว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเมียนมา

ท่าขี้เหล็กตึงเครียด!ทหารเสริมกำลังพล-ตั้งด่านฯ  

ที่ท่าขี้เหล็ก หัวเมืองชายแดนตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ล่าสุดพบว่า ทหารที่ประจำการอยู่ในท่าขี้เหล็ก ได้ส่งกำลังกว่า 100 นาย พร้อมยานยนต์ลำเลียงพล เข้าปิดถนนและวางกำลังบริเวณหน้าโรงพยาบาลท่าขี้เหล็กตลอดทั้งกลางวัน-กลางคืน ระหว่าง 3-4 มี.ค.นี้ พร้อมประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 20.00-06.00 น.ด้วย
          
“หลังจากมีการปิดล้อมโรงพยาบาลท่าขี้เหล็กแล้ว ทางเจ้าหน้าที่เมียนมาได้เข้าไปพบกับแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาล โดยมีรายงานว่ามีการพูดคุยตักเตือนไม่ให้สนับสนุนการเดินขบวนประท้วงของประชาชนอีก แต่ยังไม่ถึงขั้นจับกุมดำเนินคดี แต่สิ่งที่ฝ่ายทหารพยายามทำกันขณะนี้คือปราบปรามหน่วยกู้ภัยที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงและเป็นเครือข่ายของกลุ่มผู้ประท้วงที่เมืองย่างกุ้ง" แหล่งข่าว กล่าว
          
นอกจากนี้ยังมีรานงานด้วยว่ากองทัพภาคสามเหลี่ยมที่เป็นกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเชียงตุง ได้เสริมกำลังทหารเข้าไปยังท่าขี้เหล็กอีกอย่างน้อย 4 คันรถบรรทุก คาดว่ากำลังพลชุดนี้จะถูกส่งเข้าประจำการตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะด่านตรวจ รวมทั้งกดดันไม่ให้ชาวเมียนมาออกมาชุมนุม ซึ่งยังคงมีความพยายามจะกลับมาเดินขบวนเหมือนเดิมอีก
          
รวมทั้งมีการตั้งด่านตรวจค้นประชาชนที่สัญจรไปมาตามจุดต่างๆ ในท่าขี้เหล็กเข้มงวดกว่าเดิม โดยเป้าหมายหลักคือโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนที่มีการบันทึกภาพและคลิปเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศ รวมทั้งการใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ หากตรวจพบว่ามีการกดไลค์หรือแชร์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การชุมนุม การจับกุมหรือกระทำรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตามเมืองต่างๆ ก็จะถูกจับกุมโดยทันที ทำให้ประชาชนหลายคนต่างพากกันลบภาพ คลิปออกจากโทรศัพท์มือถือของตน
          
ด้านความเคลื่อนไหวของชาวท่าขี้เหล็ก ตลอด 2 วันที่ผ่านมานี้ ยังคงพยายามออกมาจัดกิจกรรมรวมตัวต่อต้านการรัฐประหารกันหลายรอบ และล่าสุดวันนี้(4 มี.ค.64) มีชาวท่าขี้เหล็กบางส่วนหันไปรวมตัวชุมนุมในตลาดเพื่อลดการเผชิญหน้ากับทหารบนถนนแทน

ผู้แทนเมียนมาประจำยูเอ็นลาออกหลังถูกตั้งแทนทูตชู 3 นิ้ว
 
อิรวดี เว็บไซต์ข่าวเมียนมา รายงานเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ถิ่น หม่อง หน่าย อุปทูตผู้แทนเมียนมาประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งแทน จอ โม ตุน เอกอัครราชทูตผู้แทนเมียนมา ประจำยูเอ็น ที่ถูกปลดจากตำแหน่งหลังชู 3 นิ้ว และประกาศคัดค้านการทำรัฐประหารในเมียนมา ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้นาย ถิ่น หม่อง หน่าย เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจาก จอ โม ตุน ถูกตั้งข้อหาทรยศชาติจากการแสดงออกต่อต้านรัฐประหารในเวทียูเอ็น
อย่างไรก็ตามนายจอ โม ตุน ยังคงยืนยันว่าตนยังเป็นตัวแทนของเมียนมา เนื่องจากตนได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลประชาธิปไตย ที่ยังคงได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยแถลงการณ์ของซีอาร์พี คณะกรรมธิการที่เป็นตัวแทนส.ส.เอ็นแอลดี พรรครัฐบาลประกาศแต่งตั้งให้นาย จอ โม ตุน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลพลัดถิ่นเมียนมาด้วย

แถลงกรณ์ที่ขัดแย้งกันดังกล่าวกลายเป็นแรงกดดันให้ยูเอ็น ต้องเลือกระหว่างนายจอ โม ตุน ที่ถูกมองว่าเป็นฮีโร่ของชาวเมียนมา และนายถิ่น หม่อง หน่าย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ขณะที่ชาวเมียนมาในโลกออนไลน์ต่างออกมาประกาศไม่ยอมรับนายถิ่น หม่อง หน่าย เป็นผู้แทนประจำยูเอ็น
          
จนในที่สุด นายถิ่น หม่อง หน่าย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ตนได้ลาออกจากตำแหน่งแล้วโดยไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ
ขณะที่กระทรวงต่างประเทศได้เรียกเจ้าหน้าที่ทูตจาก 19 ประเทศกลับเมียนมา หลัง จอ โม ตุน ออกมาประณามการทำรัฐประหารในเวทียูเอ็น

สิงคโปร์สั่งแบงก์พาณิชย์ตรวจสอบธุรกรรมกับเมียนมา  

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์จับตาการทำธุรกรรมทางการเงินหรือเม็ดเงินหมุนเวียนที่น่าสงสัยระหว่างสิงคโปร์และเมียนมา โดยระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับอาชญากรรมทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะนี้
           
MAS ได้ส่งหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ โดยได้เตือนให้ผู้บริหารสถาบันการเงินทุกแห่งตรวจสอบสถานะกิจการ (Due Diligence) ของลูกค้าอย่างจริงจัง และใช้มาตรการควบคุมความเสี่ยงอย่างเหมาะสมในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น โดย MAS มองว่า สถานการณ์รุนแรงในเมียนมาอาจนำไปสู่การฟอกเงิน การระดมเงินทุนเพื่อการก่อการร้าย และอาชญากรรมทางการเงินประเภทอื่นๆ
          
"เมื่อประเมินสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ MAS ได้เตือนให้สถาบันการเงินใช้มาตรการที่เหมาะสมในการจัดการกับความเสี่ยงทุกประเภทที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางธุรกิจและลูกค้าสัมพันธ์ โดยหากสถาบันการเงินตรวจพบการทำธุรกรรมที่น่าสงสัย ก็จะต้องแจ้งให้ธนาคารกลางทราบทันที
          
ความเคลื่อนไหวของ MAS มีขึ้นในขณะที่สถานการณ์การเมืองในเมียนมายังคงรุนแรง โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า มีผู้ประท้วงในเมียนมาเสียชีวิตแล้ว 38 รายในขณะนี้ หลังกองทัพเมียนมาได้เปิดฉากยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วงเมื่อวานนี้ ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตถือเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารและเข้ายึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา