วันเสาร์ ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 16:31 น.

การเมือง

พปชร.แจงยิบงบฯปี63ไม่หว่านแห-พร้อมชี้แจงทุกประเด็นฝ่ายค้าน

วันพุธ ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 14.26 น.

"ทิพานัน"แจงยิบงบฯปี63 ไม่หว่านแหและไม่มีให้เปล่า "ธนกร"แนะคนไทยใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 2 ชิมช้อปใช้ เปรียบเหมือนได้ลด 15 % ทุกการใช้จ่าย ชี้เม็ดเงินสะพัด มั่นใจช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ ลั่นพร้อมชี้แจงทุกประเด็นหากฝ่ายค้านหยิบไปอภิปราย

วันที่ 16 ต.ค. 2562  จากกรณีที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาวิจารณ์การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำ ปี 2563 ว่า ให้หว่านเหวี่ยงและหยุดแจกแบบให้เปล่านั้น น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ หรือ 'อ้น' รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เป็นการวิจารณ์บนพื้นฐานของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่หลายประการ ประเด็นแรก ให้หยุดหว่านแห  โดยยกตัวอย่างโครงการ "ชิม ช้อป ใช้"นั้น ยิ่งชัดเจน ว่า นายเผ่าภูมิมีความไม่เข้าใจว่า เป็นเพียงมาตรการกระตุ้นศรษฐกิจในระยะสั้น  และเมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของโครงการ จะพบว่าไม่ใช่การหว่านแหแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเฉพาะเจาะจงที่จะกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยข้ามจังหวัด กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน  ในจังหวัดนั้นๆ รวมทั้งมีระบบที่สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายได้จริง กระทั่งมีเม็ดเงินย้อนกลับเข้ามาหมุนเวียนในระบบ โดยล่าสุดกระทรวงการคลัง"โดยกรมบัญชีกลางได้สรุปการใช้จ่ายโครงการชิมช้อปใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.เป็นต้นมา พบว่ามีจำนวนผู้ใช้สิทธิ 6,507,594 คน คิดเป็นการใช้จ่าย 6,229.2 ล้านบาท การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ ย่อมส่งผลดีต่อชุมชนโดยตรงแน่นอน

ส่วนกรณีที่ให้หยุดแจกแบบให้เปล่าและให้มุ่งเน้น Active Welfare นั้น น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า หากเข้าใจหลักการแล้ว  จะพบว่าไม่มีเม็ดเงินที่รัฐบาลให้เปล่า การมุ่งเน้นให้มีการเกิดการใช้จ่ายที่เกิดจากการท่องเที่ยว เป็นการมุ่งเน้นให้ระดับฐานรากให้มีเม็ดเงินในระดับท้องถิ่น นำไปสู่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ประชาชนมีงานทำงานในพื้นที่ มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาทั้งฝีมือและการบริการต่างๆ  จนนำไปสู่การจัดสวัสดิการแบบ Workfare ไม่ใช่  Active Welfare ที่ประชาชนจะรอแรงจูงใจจากภาครัฐอย่างเดียว ซึ่งการที่พรรเพื่อไทยมองแค่ว่าประชาชนจะรอการช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียวนั้น อาจจะดูถูกประชาชนในพื้นที่เกินไป

และประเด็นอื่นที่นายเผ่าภูมิ  กล่าวว่าให้ใช้งบประมาณสร้างอุตสาหกรรมใหม่  ให้ใช้งบประมาณไปสร้างงาน สร้างผลิตภาพ รวมไปถึง ใช้งบประมาณไปสร้างการแข่งขัน นั้น นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่า อยากชวนให้ฝ่ายค้านศึกษาโครงการ “ประชารัฐสร้างไทย”  ที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน  ของประเทศไปจนถึงระดับโลก ซึ่งพรรคพลังประชารัฐให้ความสำคัญกับการเดินหน้าประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างชุมชนฐานรากให้แข็งแกร่ง  

นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่า แม้แต่การเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย เงินเหล่านั้นเข้าไปหมุนเวียนในระบบ ไปซื้อข้าวของเครื่องใช้อุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวัน ก็แปลกลับมาเป็นภาษีที่ต้องจ่ายให้กับผู้ประกอบการส่งให้คลังอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่มีเงินที่ให้เปล่า  พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายงบลงทุนช่วงไตรมาส 4/2562 ไว้ 3 หมื่นล้านบาท และในปี 2563 ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งหากฝ่ายค้านมีข้อเสนอที่จะช่วยกันสร้างความเข้าใจอันดีและช่วยกันคิดเพื่อพัฒนาประเทศ ก็สามารถเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรมมาได้ ไม่ใช่ตั้งคำถามแบบหว่านแห ตั้งคำถามแบบการตีเช็คเปล่าเช่นนี้

"ธนกร"แนะคนไทยใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 2 ชิมช้อปใช้  

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการชิมช้อปใช้ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก ทั้งนี้ มาตรการชิมช้อปใช้ เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งการที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน เม็ดเงินที่มีการจัดสรรให้รัฐบาลหวังให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการท่องเที่ยวให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งจากการลงพื้นที่หลายครั้งพบว่า โครงการชิมช้อปใช้มีส่วนช่วยพัฒนาความรู้ในแง่กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (G-Wallet) ให้กับคนไทยจำนวนมาก ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไม่กลัวที่จะใช้งานเทคโนโลยี เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่มีความสำเร็จทั้งเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบ โดยมียอดใช้จ่ายโครงการชิมช้อปใช้สะพัดแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว 3 วัน ใช้จ่ายเกือบ 2,000 ล้านบาท ถือเป็นโครงการที่เป็นต้นแบบการสร้างการเรียนรู้ สร้างยอดผู้ใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็น 10 ล้านคนในคราวเดียว อย่างไรก็ตาม บางคนยังไม่รู้ว่าในโครงการดังกล่าวจะมีกระเป๋าเงินอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกที่รู้จักกันดีคือ เงิน 1,000 บาทที่รัฐบาลสนับสนุน แต่ก็ยังมีกระเป๋า 2 ซึ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจะต้องเติมเงินส่วนตัวเข้าไป ตนอยากให้ประชาชนให้ความสำคัญกับกระเป๋า 2 มากยิ่งขึ้น เพราะมีจุดเด่นคือ ได้รับเงินคืน 15 เปอร์เซ็นต์ตามยอดที่ใช้จ่ายจริง 

นายธนกร กล่าวอีกว่า การใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋า 2 ก็เหมือนกับท่านไปเที่ยวแล้วได้ส่วนลดง่ายๆ กลับคืนมาถึง 15 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน วงเงินการใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน แตกต่างกันคือ สิทธิประโยชน์เหล่านี้ในกรณีปกติท่านจะต้องถือบัตรเครดิต ท่านจะต้องซื้อของครบตามจำนวนที่ร้านค้ากำหนด ต้องใช้ในห้างใหญ่ๆ ต้องทำตามกฎระเบียบของร้านเท่านั้นจึงจะได้สิทธิ์ แต่สำหรับกระเป๋า 2 ของชิมช้อปใช้นั้น ประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์จะใช้ที่ไหนก็ได้ตามใจ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านขายสินค้าท้องถิ่น บริการที่พัก และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในทุกจังหวัด ทุกร้านที่เข้าร่วมโครงการจะได้คืนหมด ยกเว้นร้านค้าในจังหวัดตามทะเบียนบ้านของท่าน ซึ่งสะดวกต่อตัวท่านเอง และยังมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจรายย่อย ช่วยให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของร้านค้าหรือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการซึ่งมีเจตนาที่จะทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการนั้น หากมีการทำผิดกฏหมาย ทางกระทรวงจะดำเนินการทันที แต่จากรายงานนั้นถือว่ามีน้อยมาก นอกจากนี้ ตนทราบว่าพรรคฝ่ายค้านเองก็เตรียมที่จะอภิปรายมาตรการชิมช้อปใช้ด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมที่จะชี้แจงในทุกประเด็น
 

หน้าแรก » การเมือง