วันเสาร์ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:31 น.

การเมือง

รมว.วัฒนธรรม “แพทองธาร” เปิดงาน “แห่เทียนโคราช ศาสตร์ศิลป์ถิ่นย่าโม” ชูพลัง Soft Power

วันศุกร์ ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 19.24 น.

รมว.วัฒนธรรม “แพทองธาร” เปิดงาน “แห่เทียนโคราช ศาสตร์ศิลป์ถิ่นย่าโม” ชูพลัง Soft Power ผสานศิลป์ - เสหน์ประเพณีไทย สู่พลังสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

วันที่ 11 กรกฎาคม 2568 เวลา 18.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2568 “แห่เทียนโคราช ศาสตร์ศิลป์ถิ่นย่าโม” จัดโดยเทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา และภาคีเครือข่าย โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน และสื่อมวลชน และในส่วน วธ. นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรมและนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา 

นางสาวแพทองธาร  กล่าวว่า รู้สึกดีใจอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงาน “แห่เทียนโคราช ศาสตร์ศิลป์ถิ่นย่าโม” ประเพณีแห่เทียนพรรษาประจำปี 2568 เพราะเมืองโคราช เมืองที่เต็มไปด้วยพลังของศิลปวัฒนธรรม และหัวใจของผู้คนที่รักบ้านเกิด ได้เห็นพลังของชาวโคราชในการร่วมกันสืบสานและต่อยอดวัฒนธรรมไทยอย่างวิจิตร งดงาม และร่วมสมัย ได้รับรายงานว่ามีผู้เข้าร่วมงานมากกว่าวันละ 50,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของงานและความทุ่มเทของทุกภาคส่วน ทั้งยังสามารถรักษาเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าของงานไว้ได้อย่างต่อเนื่อง
 
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาโคราชเติบโตด้านวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่องจากการทำงานร่วมกันของคนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชนและสถาบันการศึกษา นำวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษมาผสมผสานกับไอเดียของคนรุ่นใหม่ จนเกิดเป็นสิ่งใหม่ ๆ เช่น กางเกงแมวโคราช, Art Toy,เทศกาล Korat Street Art และแบรนด์แฟชั่นที่นำผ้าโคราชมาดีไซน์ร่วมสมัย ทั้งหมดนี้สะท้อนเอกลักษณ์ของโคราชได้อย่างชัดเจนและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“งานแห่เทียนจึงไม่ใช่แค่ประเพณี แต่เป็นเวทีของความคิดสร้างสรรค์ การรวมพลังและการส่งต่อคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่น และวัฒนธรรมประเพณีเป็นของคนทุกเจเนอเรชัน เราเดินหน้าเติมสิ่งใหม่ แต่ต้องไม่ลืมรากฐานของตัวเองและเชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายและการสนับสนุนจากรัฐบาล วัฒนธรรมที่สวยงามของไทยจะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งประเทศ” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร กล่าว

ทั้งนี้ ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2568 “แห่เทียนโคราช ศาสตร์ศิลป์ถิ่นย่าโม” จัดระหว่างวันที่ 9 - 11 กรกฎาคม 2568 เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นในรูปแบบ Soft Power กิจกรรมภายในงาน อาทิ 

การประกวดต้นเทียนพรรษา ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 
ขบวนแห่เทียน 7 ขบวนใหญ่ ได้แก่ ขบวน “Korat Soft Power”, ขบวน “สามมรดกโลกแห่งเมืองโคราช”, ขบวน “ศิลป์แห่งศรัทธา : อารยชนคนโคราช”, ขบวน “อารยธรรมโคราช : รากเหง้าแห่งดินแดนศิลป์อีสาน”, ขบวน “ศิลป์แห่งเสียงพิณ : ลูกทุ่งโคราช”, ขบวน “อารยศิลป์ถิ่นอีสาน มรดกคู่แผ่นดินไทย” 
ชมประติมากรรมเทียนพรรษาจากวัดและสถาบันการศึกษากว่า 19 ต้น
การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น โขน “ศึกพรหมมาศ”, ดนตรีพื้นบ้าน และการแสดงลูกทุ่ง
กิจกรรมสาธิตแกะเทียน หล่อเทียน Workshop ทำเทียนของที่ระลึก
ตลาดสินค้าชุมชน อาหารพื้นถิ่น และของดีเมืองโคราช
 
 

หน้าแรก » การเมือง