วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 21:20 น.

การเมือง

เกษตรกรสมุทรสงครามบุก สธ. ให้กำลังใจ"อนุทิน"แบนสารพิษ

วันพุธ ที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, 17.55 น.

เกษตรกรสมุทรสงครามบุก สธ. ให้กำลังใจ"อนุทิน"แบนสารพิษ รมว.สธ.ลั่นพร้อมแบนสารทดแทน หากพบมีอันตรายต่อสุขภาพ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยร้องผลกระทบ 2-3 เดือนโรงงานอาหารสัตว์ทุกแห่งต้องปิดตัว
 

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562  ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มเกษตรกรจากจังหวัดสมุทรสงครามกว่า 100 ชีวิต ได้นำดอกไม้ และกระเช้าผลไม้มาให้กำลังใจนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรณีแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเรื่องแบน 3 สารพิษ คือ พาราควอต ไกรโฟเซต และคลอร์ไฟริฟอส โดยตัวแทนกลุ่มดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่าเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงครามตัวจริง ขณะที่เครือข่ายอาสาคนรักษ์แม่กลอง ที่สนับสนุนการใช้สารพิษ และฟ้องศาลปกครองให้ทบทวนมติของคณะกรรมวัตถุอันตรายนั้น สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี แต่กลับยืมชื่อแม่กลองมาใช้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าคนแม่กลอง และคนจังหวัดสมุทรสงครามสนับสนุนสารพิษ 

สมาชิกในกลุ่มยังเปิดเผยข้อมูลอีกว่า เกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนมากจะปลูกมะพร้าว ส้มโอ ลิ้นจี่ ไม่ได้ใช้สารเคมีดังที่บางกลุ่มกล่าวอ้าง ดังนั้น ชาวเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม จึงให้การสนับสนุนนโยบายแบนสารพิษ 

ด้านนายอนุทิน หลังได้รับดอกไม้ และกระเช้าผลไม้ ได้กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนต่อต้านสารพิษ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ตอนที่โรงพยายาลขึ้นป้ายแบนสารพิษ ก็เกิดขึ้นเพราะความสมัครใจของโรงพยาบาลแต่ละที่ ทั้งนี้ จากที่มีความเป็นห่วงว่าบางคน บางกลุ่ม จะพลิกมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ถึงขั้นไปฟ้องศาลปกครอง แต่ตนก็เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงคิดว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง กระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องการรักษาโรคที่เกิดจากสารพิษอีกแล้ว เราต้องการนำงบไปส่งเสริมสุขภาพด้านอื่น ที่สำคัญการแบนสารพิษ จะทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ทุกคนเห็นแล้วว่าสารเคมีทางการเกษตร มีอันตรายต่อมนุษย์ ดังนั้น จะมาแบนตัวหนึ่ง แล้วปล่อยให้ใช้สารที่มีอันตรายตัวอื่น ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และกระทรวงสาธารณสุข มีจุดยืน เราไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการนำสารกลูโฟซิเนตมาใช้ทดแทนไกรโฟเซต ที่สุดแล้ว สารตัวนี้ จะถูกแบนด้วยหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า ถ้าตรวจพบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ ก็จะไม่ให้ใช้ 

"ส่วนเรื่องการกำหนดค่าสารตกค้าง(MRL) เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งมีตัวชี้วัดอยู่แล้ว และงานดังกล่าวอยู่ในส่วนของงานประจำ ซึ่งฝ่ายการเมืองได้ให้นโยบายไปแล้วว่าไม่เอาสารพิษทุกประการ"

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยร้องผลกระทบ 2-3 เดือนโรงงานอาหารสัตว์ทุกแห่งต้องปิดตัว
 
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยกล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อนำเสนอผลกระทบเรื่องการเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากการแบน 3 สารเคมี โดยระบุว่า ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่กำหนดให้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครอง จะทำให้การนำเข้าสินค้าเกษตรต้องกำหนดค่าตกค้างของสาร 3 ชนิดต้องเป็น 0% ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง 

ทั้งนี้ปัจจุบันไทยนำเข้าถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และข้าวสาลีปีละกว่า  7 ล้านตัน โดยนำเข้าจากประเทศที่ใช้สารไกลโฟเซตทั้งสิ้น ดังนั้นการแบนสารเคมี 3 ชนิดจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบทันที จึงขอทราบความชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติในการนำเข้าและมาตรการรองรับเนื่องจากธุรกิจอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบจะเสียหายอย่างมหาศาล คิดเป็นมูลค่ากว่า 800,000 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 200,000 ล้านบาท อีกทั้งจะทำให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างงานและปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา โดยส่งหนังสือไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ

นายพรศิลป์กล่าวว่า จากสต็อกวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศจะรองรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และกุ้งได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น หากรัฐบาลไม่มีแผนรับมือ ธุรกิจเหล่านี้จะล่มสลาย จากที่เป็นผู้ผลิตเนื้อสุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้ง ไทยต้องเปลี่ยนเป็นผู้นำเข้า​ อีกทั้งการนำเข้าต้องมีใบรับรองว่า เนื้อสัตว์เหล่านั้นไม่ได้เลี้ยงด้วยอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ใช้ไกลโฟเซต อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทยใช้กากถั่วเหลืองเป็นโปรตีน 24-25 % แต่ถั่วเหลืองที่นำเข้าใช้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและบริโภคด้วย ส่วนข้าวสาลีส่วนหนึ่งเป็นอาหารสัตว์ แต่อีกส่วนหนึ่งใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคนเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง เบเกอรี่ต่างๆ เป็นต้น จึงกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหาร ตลอดจนเกิดปัญหาการเลิกจ้างงาน และปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาแน่นอน

นายพรศิลป์กล่าวต่อว่า การตัดสินใจของรัฐบาลที่แบนสารเคมี 3 ชนิดนี้ไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างถี่ถ้วนเนื่องจากไม่ได้เป็นเพียงเรื่องภายในประเทศ แต่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ล่าสุดสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยแจ้งให้ประเทศบราซิลขอใบรับรองค่ามาตรฐานสารตกค้างของไกลโฟเซตในถั่วเหลืองนำเข้าที่จะต้องเป็น 0% ตามกฎหมายไทย ซึ่งทูตเกษตรประจำสถานทูตบราซิลระบุว่า ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของสมาคมฯ ได้ เนื่องจากเมล็ดถั่วเหลืองของบราซิลมีปริมาณไกลโฟเซตตกค้างอยู่ที่ 10 ppb (ส่วนในพันล้านส่วน) ซึ่งต่ำกว่าค่าความปลอดภัยทางด้านอาหารตามคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) กำหนดไว้ที่ 20 ppb ดังนั้นบราซิลจะนำเรื่องนี้ไปหารือในองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า เป็นประเด็นกีดกันทางการค้าหรือไม่ โดยคาดว่า สหรัฐอเมริกาและแคนาดาซึ่งส่งออกถั่วเหลืองและข้าวสาลีมายังไทยจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือด้วย นอกจากนี้ไทยยังนำเข้าข้าวสาลีจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยูเครน ซึ่งต้องติดตามท่าทีของประเทศเหล่านี้ต่อไป สำหรับแนวทางการหารือใน WTO นั้น ประเทศคู่ค้าจะเสนอให้ไทยนำผลพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ไทยวิเคราะห์เองมายืนยันว่าปริมาณสารตกค้างไกลโฟเซตในปริมาณ 10-20 ppb ตามที่ Codex กำหนดนั้นนั้นมีอันตรายต่อการบริโภคอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์การอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและชัดเจน

"ทันทีที่การยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดมีผลบังคับใช้ ต้องห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ใช้ 3 สารนี้อยู่แน่นอน ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรไทย อีกทั้งผู้บริโภคจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร หากยังนำเข้าสินค้าที่ใช้สารเคมีที่ไทยยกเลิก เห็นชัดเจนว่า การตัดสินใจด้านนโยบายในการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดนี้ รัฐไม่ได้มองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาให้รอบด้าน หากผู้บริหารประเทศรับข้อมูลที่ผิด ไม่มีทางที่จะตัดสินใจได้ถูกต้อง" นายพรศิลป์กล่าว

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง