วันอังคาร ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 19:46 น.

การเมือง

พปชร.เคาะประตูบ้านตามงบฯ63 เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง – ปากท้อง

วันพฤหัสบดี ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563, 09.58 น.

ส.ส. พปชร. เดินหน้าลงพื้นที่ติดตามโครงการตามงบฯ63ทันที  เคาะประตูบ้านฟังเสียงประชาชน เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง – ปากท้อง

วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2563   น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ภายหลังร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านสภาฯไปเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่การพิจารณาของส.ว.ในวันที่ 20 มกราคม 2563 หลังจากนี้ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ จะเร่งเดินหน้าติดตามการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงไปให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในทันที โดยเฉพาะโครงการที่แก้ไขปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นปัญหาแร่งด่วนและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

 
รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 นั้น มีการพัฒนาครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติให้ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
 
ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจนั้น ประชาชนจะมีระบบโลจิสติกส์ที่รองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง มีโครงข่ายคมนาคมมีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมโยงจากถนนสู่ระบบราง ทางน้ำ และทางอากาศ ได้รับประโยชน์จากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ขณะที่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจเริ่มต้น (หรือสตาร์ทอัพ) จะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 50,000ล้านบาท ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME ) จะได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพและขนาดของธุรกิจ

น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า สำหรับการท่องเที่ยวมุ่งส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับโลกที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นบนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย โดยกำหนดเป้าหมายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 540,000 ล้านบาท โดยจะพัฒนาฟื้นฟู 50 แหล่งท่องเที่ยวใน 38 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและกีฬา การท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค
 
ในส่วนของภาคการเกษตรนั้น รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า จะมีการพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร 80,000 ไร่ จัดทำโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri -Map), โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer Smart Farmer Smart Farmer),  โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร, โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร และที่สำคัญคือดำเนินโครงการให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร รวมถึงก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 
 
“ขณะนี้ยังมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งก็เป็นเรื่องเร่งด่วน  ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 กำหนดงบประมาณเพื่อบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ โดยมีการกำหนดเป้าหมายการจัดการน้ำผ่านโครงการสำคัญต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 6 ด้าน คือ 1. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำครอบคลุมทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ 2. มีการจัดการน้ำภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ 3. เพื่อบรรเทาน้ำท่วมและอุทกภัยในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่เกษตรอย่างเป็นระบบ 4. พัฒนาพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมให้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน 5. ให้หมู่บ้านและชุมชนเมืองมีน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค ในพื้นที่ขาดแคลนมีแหล่งน้ำสำรองที่มีมาตรฐานที่ราคาเหมาะสม และ 6. มีการจัดการบำบัดน้ำเสีย ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์”น.ส.ทิพานัน กล่าว 
 
รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ยังกล่าวด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐได้กำชับให้ส.ส.ของพรรคเร่งทำงานเพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการตามนโยบายต่างๆ โดยขอให้ลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชนแบบเคาะประตูบ้าน  เพื่อรวบรวมเสียงสะท้อนและปัญหาต่างๆของประชาชน นำมาประกอบกับการดำเนินนโยบาย  เพื่อนำมาปรับปรุงให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ซึ่งนอกจากกลไกของส.ส.แล้ว ยังมีในส่วนของอดีตผู้สมัครส.ส.ของพรรคที่จะทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนต่างๆจาก ประชาชนเพื่อนำมาประสานงานต่อในระดับบริหารของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย 
 
“พรรคพลังประชารัฐมุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้อง ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาพืชผลทางการเกษตร เราฟังเสียงสะท้อนของประชาชนและหาทางช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน ทั้งการเยียวยาเฉพาะหน้า และการแก้ไขปัญหาระปานกลางและระยะยาว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน” รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าว

"ภัยแล้ง"ลาม20จว. ปภ.ประสานจังหวัดเร่งแจกจ่ายน้ำ

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน นครพนมมหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทราเพชรบูรณ์อุทัยธานี นครราชสีมาอุตรดิตถ์ชัยนาท นครสวรรค์สุพรรณบุรี สุโขทัย พะเยา และสกลนครรวม 98 อำเภอ 541 ตำบล 4,600 หมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่ง ปภ.ได้จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ รวมถึงขอความร่วมมือประชาชน ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ
          
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (16 ม.ค.63)มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)20 จังหวัด รวม 98 อำเภอ 541 ตำบล 4,600 หมู่บ้าน/ชุมชนแยกเป็น
          
ภาคเหนือ 6 จังหวัดได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และพะเยา รวม 35 อำเภอ 166 ตำบล1,200 หมู่บ้าน
          
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัดได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา และสกลนคร รวม 33 อำเภอ 231 ตำบล 2,241 หมู่บ้าน
          
ภาคกลาง 6 จังหวัดได้แก่กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี รวม 30 อำเภอ 144 ตำบล 1,136 หมู่บ้าน

ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสนับสนุนการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสานจังหวัดเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยการจัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำและประมาณการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแยกเป็น น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ ควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่
          
ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

หน้าแรก » การเมือง