วันอังคาร ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567 21:50 น.

การเมือง

ฝ่ายค้านรุมสับจัดทำงบฯปี 64 ไม่ตอบโจทย์ปัญหาประเทศชาติ

วันพุธ ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 15.58 น.

สภาฯเปิดฉากถกงบฯ64 นายกฯแจงจัดทำงบสอดคล้องกับเงื่อนไขเศรษฐกิจและแก้ปัญหาโควิด-19 ด้านผู้นำฝ่ายค้านอัดจัดทำงบฯไร้ประสิทธิภาพไม่ตอบโจทย์ปัญหาชาติ ส่วน หน.ก้าวไกลยกเป็นนายกฯที่ใช้งบฯมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์

ที่รัฐสภา วันที่ 1 ก.ค. 63 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วาระที่ 1 รับหลักการ โดยมีนายชวน หลีกภัย ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 64 ว่า หลักการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เป็นจำนวนไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้มีกรอบวงเงินสำหรับใช้จ่ายในปี 64 โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่รัฐบาลนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปี 63 โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบาย และมาตรการต่างๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกันทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ

ผู้นำฝ่ายค้านอัดทำงบฯไร้ประสิทธิภาพ

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ระบุว่าการจัดทำงบประมาณประจำปี จำเป็นอย่างยิ่งต้องจัดทำให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมในช่วงเวลานั้นๆ ปัจจุบันวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ถูกรับมือโดยมาตรการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐบาล กำลังจะนำประเทศไทยไปสู่อีกวิกฤตหนึ่ง คือวิกฤตเศรษฐกิจ การจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ จึงมีลักษณะพิเศษที่ต้องพิจารณานั่นคือ ต้องสามารถเป็นเครื่องมือรองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามาให้ได้ ต้องเข้าใจก่อนว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 แตกต่างจากวิกฤตครั้งที่ผ่านๆ มาโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการ กระทบพร้อมกันทุกภาคส่วน โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.เกี่ยวกับมาตรการทางการเงินอีก 2 ฉบับ รวมถึง พ.ร.บ. โอนงบ 63 เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจแต่รัฐบาลใช้มาตรการแบบสักแต่ว่าได้ทำ ไม่มองถึงประสิทธิภาพที่ปลายทาง ที่ผิดพลาด และมีช่องโหว่ และเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่มากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะมากหรือน้อย ฟื้นตัวเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่คาถาที่รัฐบาลต้องท่องไว้ 3 อย่าง คือ ป้องกันธุรกิจล้ม รักษาการจ้างงาน ป้องกันผลกระทบที่ลามถึงระบบการเงิน โดยรัฐบาลไม่ได้จัดงบฯที่สามารถตอบโจทย์หลักสำคัญ คือ ต้องรองรับ คนตกงานจำนวนมหาศาลในระยะสั้นได้ , ต้องสร้าง การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลาง ระยะยาวได้ , ต้องทำได้เลย ทำได้เร็วงบประมาณสำหรับภาวะวิกฤต หลักคิดต้องแตกต่างจากภาวะปกติ

ยกเป็นประวัติศาสตร์ชาติใช้งบ 20 ล้านล้านบาท

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ปี 2564 นอกจากจะเป็นปีที่ประชาชนทุกข์แสนสาหัสแล้ว ยังต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยว่าเป็นปีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้งบประมาณแผ่นดินครบ 20 ล้านล้านบาท ตั้งแต่บริหารประเทศยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นนายกฯ ที่ใช้งบบริหารแผ่นดินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่น่าแปลกใจที่เงิน 20 ล้านล้านบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยมาก โตเพียง 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น จาก 13 ล้านล้านบาทในปี 2557 ที่ท่านยึดอำนาจมาเป็น 16 ล้านล้านบาทในปี 2562

หน้าแรก » การเมือง