วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 07:18 น.

การเมือง

“สิระ-ธรรมนัส” รอดยกคู่ หลังศาล รธน.ชี้ขาดไม่ผิดกฎ รธน.

วันพุธ ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 17.26 น.

“สิระ-ธรรมนัส” รอดทั้งคู่ หลังศาล รธน. วินิจฉัยกรณี "สิระ เจนจาคะ" ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส และไม่รับคำร้อง "ธรรมนัส" ปมภรรยาซุกหุ้นขัด รธน.

วันที่ 1 ก.ค.63 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่เดินทางลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบปัญหาการบุกรุกป่า แล้วเกิดปัญหาโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่

ทั้งนี้สืบเนื่องจากประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.ของนายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 7:1 วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.ของนายสิระ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1)

ส่วนคำร้องขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พปชร. และ รมช.เกษตรและสหกรณ์นั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากข้อกล่าวหาไม่มีลักษณะเป็นการเข้าทำสัญญาอันเป็นการผูกขาดตัดตอนตามรัฐธรรมนูญ

กรณีนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า แม้ ส.ส.จำนวน 54 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น นอกจากพิจารณากระบวนการส่งคำร้องแล้ว ยังต้องพิจารณาเนื้อหาของคำร้องว่ามีมูลกรณีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย

เนื่องจากรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดมาตรการตรวจสอบมูลกรณีตามคำร้องก่อนส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง เนื่องจากไม่มีกระบวนการกลั่นกรองมูลกรณีตามคำร้องโดยความเห็นชอบของสภาแห่งนั้น ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องพิจารณามูลกรณีก่อนที่จะมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกร้อง

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า การที่ภริยาของ ร.อ.ธรรมนัส ถือหุ้นในบริษัท ตลาดคลองเตย (2551) จำกัด และบริษัทฯ ทำสัญญาเช่าพื้นที่กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามที่กล่าวอ้างในคำร้อง ไม่มีลักษณะเป็นการเข้าทำสัญญาอันเป็นการผูกขาดตัดตอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม มูลกรณีไม่ต้องด้วยเหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

หน้าแรก » การเมือง