วันพฤหัสบดี ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 03:24 น.

การเมือง

องค์กรสื่อโลกจี้รัฐบาลไทยเลิกพรก.ฉุกเฉิน ชี้จำกัดเสรีภาพเสนอข่าวม็อบ

วันศุกร์ ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 14.49 น.

วันนี้ 16 ตุลาคม 2563 สหพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ (International Federation of Journalists : IFJ) ออกแถลงการณ์ Thailand : Emergency Decree restricts press freedom ประณามการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลไทย ซึ่งมีข้อห้ามการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและการห้ามนำเสนอข่าวที่อาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. 2563 ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นหลังการชุมนุมท้าทายรัฐบาล มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 22 คน รัฐบาลไทยอ้างว่าต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยกล่าวหาผู้ประท้วงก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง  อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นของวันที่ 15 ต.ค. 2563 ผู้ประท้วงยังคงเดินหน้าจัดการชุมนุมต่อไปในกรุงเทพฯ และเลิกชุมนุมในวันเดียวกัน การชุมนุมนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ภายใต้ข้อเรียกร้อง 1.ยุบสภา 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.หยุดคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง
          
IFJ เห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวสร้างข้อจำกัดให้กับสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ จึงไม่เพียงกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อความสามารถของสื่อมวลชนในการรายงานเหตุการณ์อย่างเป็นกลาง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทันที และรับรองเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน
          
สำหรับ IFJ นั้นเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านสื่อมวลชนที่เก่าแก่องค์กรหนึ่งของโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2496 ปัจจุบันมีสมาชิกราว 6 แสนคน จาก 187 องค์กรใน 146 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยีบม

สสส.ออกแถลงการณ์จี้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) ได้ออกแถลงการณ์ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐสภาต้องหาทางออกให้ประเทศ ความว่า 
 
ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้อำนาจเข้าสลายการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และมีการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุมจำนวน 22 คน ทั้งที่แกนนำได้ประกาศจะยุติการชุมนุมให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับในเวลาหกนาฬิกา นั้น 
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) เห็นว่า
 
1.การชุมนุมและการเดินขบวนของคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะ เพื่อให้มีการถกเถียงกันอย่างอารยะ อันเป็นการแสดงออกตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย  
 
2.การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยอ้างว่า “มีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน” แต่โดยข้อเท็จจริงการชุมนุมของคณะราษฎร2563เป็นชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ หากมีผู้ชุมนุมมีการกระทำผิดกฎหมายใดก็ควรใช้กฎหมายปกติเอาผิดกับผู้กระทำผิดนั้นๆได้อยู่แล้ว 
 
นอกจากนี้การชุมนุมซึ่งเป็นเหตุการณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักการภาวะฉุกเฉินตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ต้องเกิดภัยคุกคาม “ความอยู่รอดของชาติ” ซึ่งต้องเป็นสถานการณ์เกี่ยวข้องกับคนทั้งชาติ และการดำเนินชีวิตของประชาชนถูกคุกคามและต้องเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนไม่สามารถใช้มาตรการปกติดำเนินการควบคุมสถานการณ์ได้ อีกทั้งไม่เป็นไปตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548เพราะการชุมมนุมของคณะราษฎร 2563 ไม่ได้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคลแต่ประการใดและมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงทีแต่ประการใด
 
3.การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ดังเช่นการห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคน ห้ามเสนอข่าวของหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้ามใช้เส้นทางหรือยานพาหนะ ห้ามใช้ เข้าไปหรืออยู่ในอาคาร อีกทั้งเป็นการให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบของสถาบันตุลาการ เช่นการจับกุมและควบคุมตัว การสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัว การสั่งยึดหรือ อายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารหรือการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การสั่งห้ามไม่ให้บุคคลกระทำหรือให้ทำการใดๆ
 
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
 
1.นายกรัฐมนตรีต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติมีการใช้กฎหมายปกติ
 
2.สถาบันรัฐสภาต้องมีบทบาทในการหาทางออกให้ประเทศ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยสันติ โดยให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วน
 
3.สถาบันตุลาการต้องตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของจ้าหน้าที่รัฐอย่างอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติใดๆ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์และการชุมนุมโดยชอบธรรม  ดังกรณี การพิจารณาอนุญาตให้ออกหมายจับ หรือการพิจารณาการให้ประกันตัวผู้ต้องหา ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันตุลากรเป็นสถาบันสำคัญในการหาทางออกให้ประเทศตามกรอบอำนาจหน้าที่

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง