วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 11:35 น.

การเมือง

30ต.ค."ส.พระปกเกล้า" ตั้งวงออกแบบ "กรรมการสมานฉันท์"

วันพฤหัสบดี ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 15.14 น.

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563  นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่าวันที่ 30 ตุลาคม นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้านัดหารือเป็นการภายใน เพื่อพิจารณาต่อประเด็นที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุให้สถาบันพระปกเกล้า ช่วยออกแบบรูปแบบของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เบื้องต้นจะเตรียมความพร้อมและข้อมูลรวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

นายสติธร กล่าวในความเห็นส่วนตัวด้วยว่า การตั้งกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกของปัญหาการเมือง รูปแบบไม่ควรซ้ำกับกรรมการชุดต่างๆ ที่ผ่านมา ที่มีหน้าที่พิจารณา ศึกษาและเสนอแนะแนวทางออกไปยังรัฐบาล เพราะไม่เคยมีฝ่ายใดนำไปปฏิบัติ ดังนั้นในแนวทางที่ทำได้ คือ การทำหน้าที่คนกลาง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้งหลัก คือ รัฐบาล และกลุ่มผู้ชุมนุม พูดคุยเพื่อตกลงและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งรูปแบบคล้ายกับการพูดคุยสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ และเชิญแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พูดคุย แต่รอบนั้นไม่ได้ข้อเสนอ เพราะเกิดการเผชิญหน้ากัน

นายสติธร กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธการร่วมวงกรรมการสมานฉันท์ เพราะมองว่าซื้อเวลาให้รัฐบาลปัจจุบัน ว่า พรรคเพื่อไทยควรฟังและพิจารณาถึงรูปแบบการทำงานก่อนที่จะประกาศจุดยืน เพราะอาจตกขบวนได้ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรคก้าวไกล ได้สนับสนุนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย

"กรณีที่พรรคเพื่อไทย บอกว่าไม่ร่วม เพราะเป็นกรรมการซื้อเวลาให้รัฐบาลนั้น ต้องยอมรับว่ากรรมการในลักษณะเดียวกัน ส่วนใหญ่ตั้งมาเพื่อระดมความเห็นและเสนอแนะทางออก แต่คนที่เกี่ยวข้องไม่มีใครนำไปปฏิบัติ และเมื่อมีความคิดจะตั้งกรรมการทำให้คนมองว่า เกิดขึ้นอีกแล้ว เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่ได้ผลอะไร ดังนั้นสิ่งที่สถาบันพระปกเกล้าต้องพิจารณาคือ การออกแบบ รูปแบบการทำงาน และกำหนดองค์คณะเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม" นายสติธร กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวยอมรับถึงความหนักใจที่สถาบันได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สนับสนุน เพราะประเด็นที่ต้องหาทางออกไปไกลกว่าการขัดแย้งหรือปัญหาทางการเมือง แต่มีเรื่องของการปฏิรูปสถาบันหลักของชาติ ดังนั้นสิ่งที่เป็นไปได้ คือ กรรมการที่เกิดขึ้นต้องร่วมออกแบบและคิดว่าจะนำปัญหาใดพูดคุยกันก่อน ส่วนเรื่องละเอียดอ่อนนั้นจะพิจารณาภายหลัง ขณะเดียวกันหากคู่ขัดแย้งหลัก คือ รัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม ยอมรับกลไกดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้การเกิดขึ้นของกรรมการสำเร็จ และส่วนตัวมองว่าควรใช้กลไกของรัฐสภาดำเนินการ เพื่อใช้กติกาของรัฐสภา เช่นการประชุมลับ ขณะเดียวกันรัฐสภา ถือเป็นพื้นที่ตัวแทนของทุกฝ่าย 

หน้าแรก » การเมือง