วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 19:30 น.

การเมือง

สองเด้ง! "อนุทิน"เผย24ก.พ.วัคซีนแอสตราเซเนกาถึงไทยด้วย

วันอังคาร ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 15.49 น.

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 กุมภาพันธ์)จะมีวัคซีน 2 ยี่ห้อเดินทางมาถึงประเทศไทย คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 117,000 โดส และซิโนแวค พร้อมระบุว่า หากไม่มีดราม่าเกิดขึ้นกันมากวัคซีนก็จะมาถึงประเทศไทยก่อนหน้านี้แล้ว          

ส่วนการเริ่มฉีด นายอนุทิน กล่าวว่า นี้ต้องให้ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ อำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นคนชี้แจงจะดีที่สุด
          
สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะสามารถฉีดวัคซีนเป็นเข็มแรกของประเทศไทยเลยหรือไม่นั้น นายอนุทินกล่าวว่า ต้องมีกระบวนการประเมินความเสี่ยง โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นขั้นตอนตามวิธีการสากล ไม่ใช่วิธีปฏิบัติต่อบุคคลใดเป็นพิเศษ โดยนายกฯจะได้รับวัคซีนที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ คือไม่ใช่ซิโนแวค เพราะซิโนแวคมีข้อจำกัดเรื่องอายุ แต่เป็นอีกยี่ห้อหนึ่งคือแอสตร้าเซนเนก้า โดยผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนเป็นผู้จัดหามาให้ก่อน ส่วนจะฉีดเมื่อไหร่นั้น ต้องรอให้ นพ.โสภณ เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด และเมื่อนายกฯฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ตามปกติ ส่วนการการเว้นระยะฉีดระหว่างเข็มแรกกับเข็มที่สองนั้น นายอนุทินกล่าวว่า ซิโนแวค จะต้องเว้นห่างกัน 14-28 วัน ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า เว้นห่างกันประมาณ 6 สัปดาห์ โดยการฉีดวัคซีนจะเริ่มต้นที่สถานพยาบาลก่อน เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ กรมควบคุมโรค จะต้องมีความมั่นใจว่าจะทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับประชาชน โดยจะต้องสังเกตอาการภายหลังฉีดวัคซีน 30 นาที จากนั้นกระทรวงสาธารณสุขและสถานพยาบาลต่างๆ จะให้ยาแก้แพ้ ให้ตามอาการจากเบาไปหาหนัก ซึ่งเชื่อว่าไม่มีอะไรมากมาย

13จังหวัดฉีด"วัคซีนโควิด" 2 แสนโด๊สแรก
 
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่เมื่อวานนี้ เห็นชอบแผนกระจายวัคซีนจำนวน 200,000 โด๊สแรกที่จะได้รับในวันพรุ่งนี้ (24 ก.พ.) ให้กับกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

          1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน
          2. บุคคลที่มีโรคประจำตัว
          -โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี เป็นต้น
          -โรคหัวใจและหลอดเลือด
          -โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต
          -โรคหลอดเลือดสมอง
          -โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด
          -โรคเบาหวาน
          -โรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
          3. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
          4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

          แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน 2.บุคคลที่มีโรคประจำวัน เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี เป็นต้น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่อยู่ระยะ 5 ขึ้นไป (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน โรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 3.ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

          และระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมากขึ้น และเพียงพอ กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1 2. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด่านหน้า 3. ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์ 4.ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ 5.ประชาชนทั่วไป 6.นักการทูตและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และ 7.แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

          วัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศไทย ในช่วงแรก ก.พ.-เม.ย.2564 วัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโด๊ส โดยจะเข้ามาในวันที่ 24 ก.พ.นี้ 2 แสนโด๊สแรก เดือน มี.ค. 8 แสนโด๊ส เดือน เม.ย. 1 ล้านโด๊ส ช่วงที่ 2 เดือน มิ.ย.-ส.ค. ของแอสตราเซเนกา 26 ล้านโด๊ส โดย 6 ล้านโด๊สเดือนมิ.ย., 10 ล้านโด๊สเดือน ก.ค. และอีก 10 ล้านโด๊สเดือนส.ค. และช่วงที่ 3 ก.ย.-ธ.ค. 2564 อีก 35 ล้านโด๊ส ก.ย.-พ.ย. เดือนละ 10 ล้านโด๊ส และ ธ.ค. 5 ล้านโด๊ส
 
         ศบค.ให้ความเห็นชอบแผนกระจายวัคซีน 2 แสนโด๊สแรก โดยกระจายใน 13 จังหวัด ประกอบด้วย

          1. สมุทรสาคร จำนวน 70,000 โด๊ส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 8,000 โด๊ส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 6,000 โด๊ส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 46,000 โด๊ส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 10,000 โด๊ส
 
         2.กรุงเทพฯ (ฝั่งตะวันตก) 66,000 โด๊ส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 12,400 โด๊ส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,600 โด๊ส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 47,000 โด๊ส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 5,000 โด๊ส

          3.ปทุมธานี 8,000 โด๊ส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 3,000 โด๊ส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 2,000 โด๊ส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2,000 โด๊ส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โด๊ส

          4.นนทบุรี 6,000 โด๊ส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,000 โด๊ส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โด๊ส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2,000 โด๊ส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โด๊ส

          5.สมุทรปราการ 6,000 โด๊ส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,000 โด๊ส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โด๊ส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2,000 โด๊ส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โด๊ส

          6.ตาก (อ.แม่สอด) 5,000 โด๊ส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 3,000 โด๊ส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 2,000 โด๊ส

          7.นครปฐม 3,500 โด๊ส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,500 โด๊ส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โด๊ส

          8.สมุทรสงคราม 2,000 โด๊ส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 1,500 โด๊ส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 500 โด๊ส

          9.ราชบุรี 2,500 โด๊ส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,000 โด๊ส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 500 โด๊ส

          10.ชลบุรี 4,700 โด๊ส
          11.ภูเก็ต 4,000 โด๊ส
          12. อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 2,500 โด๊ส
          13. จ.เชียงใหม่ 3,500 โด๊ส โดย 4 จังหวัดเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยมอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาจัดสรรจำนวนวัคซีนให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายตามสถานการณ์และบริบทของพื้นที่

          ส่วนอีก 16,300 โด๊ส สำหรับควบคุมการระบาดและฉีดให้บุคลากร รพ.ที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยแต่ละคนจะต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ส่วนการวางแผนให้บริการวัคซีนโควิด-19 ใน รพ. จะให้บริการใน รพ. 1,000 แห่ง วันละ 500 โด๊ส เฉลี่ยต่อเดือนฉีดได้ 10 ล้านโด๊ส แต่สัปดาห์แรกจัดบริการในโรงพยาบาล 50 แห่ง เริ่มจาก 100-200 โด๊สต่อวัน ระยะต่อไปพิจารณาขยายการให้บริการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง