วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 08:12 น.

การเมือง

เมธีปรัชญาแนะเรียนปรัชญาเชิงพุทธ ต้องฝึกวิปัสสนากรรมฐานเชิงลึกเป็นฐาน

วันศุกร์ ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 18.40 น.

บัณฑิตวิทยาลัย มจร ระดมอาจารย์ปรัชญาระดับประเทศ เสนอมุม "การสอนปรัชญาอย่างไรให้ได้สาระ" อธิการบดีมหาจุฬาฯแนะการสอนปรัชญาใน"มจร" ต้องมีชีวิตชีวาควบคู่กับวิชาพระพุทธศาสนาล้วนและพระพุทธศาสนาแบบประยุกต์  ศาสตราจารย์โสรัจจ์แนะนักเรียนปรัชญาต้องมีทักษะในการตั้งคำถามและคิดวิเคราะห์ ศาตราจารย์ดร.วัชระแนะต้องไม่มุ่งโจมตีใคร ขณะที่ ดร.บุญรอดจากม.บูรพาเสนอนักเรียนปรัชญาเชิงพุทธต้องฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเชิงลึก

วันที่ ๓๐  กรกฎาคม ๒๕๖๔ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  (มจร) เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการสัมมนาวิชาการ “การสอนปรัชญาอย่างไรให้ได้สาระ” ซึ่งจัดโดยบัณฑิตวิทยาลัย มจร ภายใต้การนำของพระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, รศ.ดร. คณบดี  

การสอนปรัชญาใน"มจร" ต้องมีชีวิตชีวา

เริ่มด้วยพระสุวรรณเมธาภรณ์, ผศ. รองอธิการดีฝ่ายวิชาการ มจร กล่าวถวายรายงานต่อพระธรรมวัชรบัณฑิต, ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดี มจร เป็นประธานเปิดและบรรยายหัวข้อ  “มจร กับวิชาปรัชญา : แนวทางการสร้างหลักคิดในฐานพุทธธรรม” โดยระบุว่า มหาจุฬาฯมีบรรยากาศแห่งการสอนปรัชญามาตั้งแต่อดีต  มีความเข้มข้นมีชีวิตชีวายุคที่พระพรหมบัณฑิต, ศาสตราจารย์ ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยูรวงศาวาส เป็นอธิการบดี ได้เปิดการศึกษาระดับปริญญาโท แต่ในช่วงหลังๆการสอนปรัชญาเงียบหายไป เราจึงมุ่งพัฒนาการสอนปรัชญาให้มีชีวิต  ระยะหลังจะสอนแบบออนไลน์แต่ต้องมุ่งพยายามสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนให้มีความต่อเนื่องมีความสัมพันธ์ในฐานะระหว่างศิษย์กับอาจารย์ผู้สอนมากขึ้น

"วิชาปรัชญาถือว่าเป็นวิชาที่มีความสำคัญโดยต้องเรียนควบคู่กับวิชาพระพุทธศาสนาล้วนและพระพุทธศาสนาแบบประยุกต์ มีความเป็นเอกักษณ์และอัตลักษณ์ การเรียนปรัชญาบนฐานพุทธธรรมจึงต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบ ภายใต้คำถามว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เป็นไปอย่างไร และจะต้องมีการวิเคราะห์ หลักพระพุทธศาสนาบนฐานสำคัญในการตอบคำถามเช่น ความรู้คืออะไร ความรู้เกิดจากที่ไหน อะไรคือความรู้ อะไรคือปัญญา มีความสัมพันธ์อย่างไร ผู้จะสอนปรัชญาจะต้องศึกษาพระพุทธศาสนาให้มีความลึกซึ้งมากที่สุด"  อธิการบดี มจร กล่าวและว่า

มหาจุฬาฯจึงมุ่งศึกษาปริยัติและปฏิบัติควบคู่นำไปสู่ปัญญาอย่างแท้จริง โดยปัญญามีทั้งนอกตัวและปัญญาในตัว โดยปัญญานอกตัวเป็นเพียงข้อมูลเป็นความรู้จากคนอื่น แต่ชาติกปัญญาเป็นปัญญาที่อยู่ในตัวคน  นำไปสู่ปาริหาริกปัญญาและวิปัสสนาปัญญาต่อไป จะต้องอาศัยปรโตโฆสะและกัลยาณมิตร  และมองถึงจริยศาสตร์ว่า มนุษย์กับความดีความชั่ว อะไรคือความดีความชั่ว เกณฑ์ตัดสินความดีความชั่ว ชีวิตควรไปเป็นอย่างไร  ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร จึงต้องศึกษาหนังสือพุทธธรรมให้มีความลึกซึ้ง โดยมองถึงกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต  คำถามที่เป็นระบบจะนำไปสู่การตอบที่เป็นระบบ 
 
ต่อจากนั้นเป็นการเสวนาโดยมีดร. สุรพล  สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มจร เป็นผู้ดำเนินการ แนะนำผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วยศาสตราจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ศาตราจารย์ ดร. วัชระ  งามจิตรเจริญ  จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุญรอด บุญเกิด  จากมหาวิทยาลัยบูรพา 

นักเรียนปรัชญาต้องมีทักษะในการตั้งคำถามและคิดวิเคราะห์ 

ศาสตราจารย์โสรัจจ์ ได้ตั้งประเด็นว่า ๑) ปรัชญามีสาระจริงหรือไม่ ถือว่าเป็นคำถามที่ตอบยาก โดยปรัชญามีการถามคำถามเพื่อหาคำตอบอย่างมีเหตุผล  สาระของปรัชญาจึงมีท่าทีในการมองโลก เนื้อหาของคำตอบปัญหาปรัชญา และ ทักษะเสนอความคิด  โดยคนเรียนปรัชญาจะต้องเป็นผู้ตั้งคำถามเป็นผู้มีทักษะในการเสนอความคิด เป็นคนที่จับใจความจับประเด็นเก่ง การสอนปรัชญาที่จะได้สาระซึ่งการตอบคำถามเป็นกิจกรรมของปรัชญาอย่างหนึ่ง  บริบทของการเรียนการสอนปรัชญา ปรัชญาจะต้องฝึกการตั้งคำถาม เวลาเรียนจะต้องฝึกให้ตั้งคำถาม  

๒) การสอนปรัชญาจำเป็นต้องมีสาระหรือไม่ เพราะการประกันคุณภาพจะต้องสามารถวัดได้เป็นการตีกรอบผู้สอนและผู้เรียน แต่การเรียนการสอนจะต้องอยู่บรรยากาศที่ผ่อนคลาย เช่น เราเกิดมาทำไม เกิดมาควรทำอะไร ๓) ปรัชญาสอนกันได้หรือไม่  จะต้องพัฒนาความสามารถในการตั้งคำถามความสามารถในการใช้กระบวนการคิด  ปรัชญาคือสอนให้เราคิดเป็น ใครตั้งคำถามไม่เป็นจึงไม่มีความคิด 

๔)สอนปรัชญาแบบไม่เข้าถึง  ๕) เรามาเรียนมาสอนปรัชญากันทำไม จึงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ เราจึงต้องฝึกผู้เรียนให้มีการคิดวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ โดยการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบในกรณีเหตุการณ์ต่างๆ ตามรายวิชาในมิติภาพยนตร์ ด้วยการดูภาพยนตร์แล้วสะท้อนมุมมองตามปรัชญา โดยความถูกต้องในการตัดสินใจมีการถกกันอย่างเสรี เป็นการพัฒนาผู้เรียนเพราะโลกความจริงจะต้องมองเหตุมองผล ใช้ความคิดแบบเสรี ไม่ปิดกั้นการแสดงออกแม้ที่มีความแตกต่าง  

 ต้องไม่มุ่งโจมตีใคร     
ศาตราจารย์ดร.วัชระ  กล่าวประเด็นสำคัญว่า  การสอนการเรียนการสอนปรัชญาจะต้องสร้างการมีส่วนร่วม ได้ฝึกคิดในชั้นเรียน การสอนปรัชญาควรสอนทั้งเนื้อหา คือ แนวคิดหรือทัศนะของนักปรัชญา และการสอนการคิดแบบปรัชญา คือ การคิดเชิงวิเคราะห์วิพากษ์หรือการคิดแบบใช้เหตุผล (How to Philosophize) การเรียนปรัชญาจะต้องบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ ด้วยเพราะปรัชญาเป็นนามธรรมสูงมาก การสอนให้คิดที่มีความสร้างสรรค์อยู่กรอบของคุณธรรมจริยธรรม การสอนมีการมอบหมายงานให้ศึกษาค้นคว้าด้วยการสอนแบบ Active Learning  โดยสาระของการเรียนปรัชญาต้องไม่โจมตีคนอื่น เพราะคนเรียนปรัชญาคิดว่าตนเองรู้มากผู้เรียนปรัชญาต้องใจกว้างรับฟังความเห็นคนอื่น  มีท่าทีการมองโลกที่รอบคอบกว้างไกล ต้องสามารถคิดเป็นมีการวิเคราะห์วิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ สามารถนำมาใช้จริง  ซึ่งปรัชญาตะวันตกไม่ได้มุ่งการปฏิบัติ แต่พระพุทธศาสนามุ่งการปฏิบัติ ปรัชญาตะวันตกและวันตกออกจึงควรบูรณาการกันจะเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพราะปรัชญาตะวันออกมีแนวคิดด้านคุณธรรมจริยธรรมจะสอนมีวิธีการสอนให้เป็นคนมีเหตุผล มีคุณธรรม
      
การสอนปรัชญาจะใช้วิธีการเดิมไม่ได้จะต้องสอนให้มีส่วนร่วมสอนให้คิดเป็นเหตุเป็นผล ฝึกให้ผู้เรียนได้คิด ผู้สอนต้องใจกว้างด้วย การสอนแบบปรัชญาไม่ควรเน้นฟังอาจารย์บรรยายอย่างเดียว แต่ควรให้ผู้เรียนอ่านหนังสือตำรา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนฝึกคิดและแสดงความคิดเห็น การฝึกเป็นครูอาจารย์หรือผู้สอนจะต้องมีเทคนิคด้วยการสอนให้เห็นโครงสร้างการอ้างเหตุผล โดยเน้นวิธีการเรียนการสอนให้สอดรับยุคสมัยปัจจุบัน  โดยการใช้ศัพท์ทางปรัชญาจะช่วยให้ทำความเข้าใจคำศัพท์และเนื้อหาของปรัชญาเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาของปรัชญามากขึ้น  การสอนที่ใช้การอุปมาหรือการเปรียบเทียบในการอธิบายเนื้อหาปรัชญาจะช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น จะต้องสอนให้ใช้เหตุผลแบบสร้างสรรค์จะต้องวิเคราะห์วิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ “การวิเคราะห์วิพากษ์ด้านศาสนาต้องวิเคราะห์แบบสร้างสรรค์” การศึกษาแบบศาสนาจะต้องวิเคราะห์แบบคนนอกและคนใน คนนอกจะมองแบบตะวันตก คนในมองแบบคัมภีร์ไม่ได้หาความถูกผิดของคำสอน แต่มองคำสอนว่าเป็นไปอย่างไร จึงต้องใช้กิจกรรมมาบูรณาการกับการเรียนการสอน โดยศาสตราจารย์ กิตติคุณปรีชา ช้างขวัญยืน กล่าวว่า การศึกษาทางศาสนาอาจจะศึกษา ๒ สถานะ คือ ๑)ศึกษาแบบคนใน ศึกษาในฐานะศาสนิกชน ไม่โต้แย้งคำสอนของศาสดา ๒)ศึกษาแบบคนนอก มีการตั้งปัญหาเอากับศาสนาวิพากษ์ศาสนา ปม้ว่าจะทำให้เกิดความรู้ที่แตกฉาน แต่อาจจะทำให้ศรัทธาเสื่อมได้  สรุปว่า   การเรียนการสอนปรัชญามุ่งให้ผู้เรียนมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น มีทักษะในการคิดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ  มีคุณธรรมจริยธรรมจะทำให้ผู้เรียนเข้าถึงสาระ   

นักเรียนปรัชญาเชิงพุทธต้องฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเชิงลึก
      
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุญรอด  กล่าวประเด็นสำคัญว่า มหาวิทยาลัยบูรพาถือว่านิสิตสนใจในด้านศาสนาปรัชญาเป็นจำนวนมาก  จึงเสนอวิธีการบริหารอย่างไรให้ปรัชญาเป็นที่สนใจ เพราะมุ่งเป็นที่ศึกษาศาสนาและปรัชญาในภาคตะวันออก โดยแบ่งเป็นยุคเริ่มต้น ยุคต่อมา ยุคปัจจุบัน  ด้วยการพัฒนาศักยภาพอาจารย์ผู้สอนอย่างเต็มความสามารถซึ่งแต่ละท่านมีความรักความผูกพัน จึงมีการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ จึงประกอบด้วย โครงสร้างเนื้อหาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนานิสิต ระบบการดูแลนิสิต การสร้างเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัย และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม โดยการเรียนการสอนจะต้องออกแบบเป็นกิจกรรมเป็นบูรณาการ เน้นการคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบด้วยตนเอง ผู้เรียนจะต้องฝึกตั้งคำถาม ผู้สอนต้องใจกว้างในคำถามหรือคำตอบ ฝึกให้นิสิตกล้าร่วมกล้าแสดงความคิดเห็น เน้นสร้างการมีส่วนร่วม  

สิ่งหนึ่งที่สำคัญในปรัชญาคือการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของผู้เรียน เพื่อให้เข้าถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยการเรียนปรัชญาจะถูกมองว่าเรียนไปแล้วจะไปทำอะไรจึงมีกิจกรรมระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง รุ่นพี่ที่มีประสบความสำเร็จ เน้นความสัมพันธ์ที่มีความอบอุ่นความเป็นพี่เป็นน้อง  สรุปการสอนปรัชญาอย่างไรให้เข้าถึงสาระ จะต้องสอนให้รู้อย่างลึกซึ้งเป็นรูปธรรม  เน้นบูรณการกิจกรรมกับชีวิตประจำวัน ฝึกการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล เน้นการพัฒนาคนด้วยคุณธรรมจริยธรรมมีความรู้คู่คุณธรรม โดยผู้เรียนศาสนาและปรัชญาคิดได้ คิดดี คิดเป็น และฉลาดในการจัดการ  
      
ดังนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสามท่านสะท้อนว่าวิชาปรัชญายุคใหม่จะต้องบูรณาการ ภายใต้การสอนปรัชญาอย่างไรให้เข้าถึงสาระ ฝึกการวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ให้มีคุณธรรมจริยธรรม มุ่งการใช้ความคิดแบบเสรีไม่ปิดกั้นการแสดงออก ด้วยการพัฒนาทักษะการฝึกการตั้งคำถามและกระบวนการคิดวิเคราะห์ การสอนปรัชญายุคใหม่ด้วยเทคนิควิธีการแบบ Active Learning  ถือว่ามีความสำคัญ ผู้สอนปรัชญาต้องใจกว้างไม่ควรเน้นฟังบรรยายอย่างเดียวต้องไม่โจมตีคนอื่น จึงมีการเสนอวิธีการบริหารหลักสูตรการสอนศาสนาและปรัชญาอย่างไรให้สำเร็จในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยคณาจารย์ที่สอนปรัชญาทั่วประเทศมีข้อห่วงกังวลว่า ต่อไปจะไม่มีผู้เรียนในสาขาปรัชญาเพราะการเปลี่ยนแปลง เพราะศาสนาล้วน เพราะปรัชญาล้วน อาจจะอยู่ไม่รอดแล้วจะมีการบูรณาการในการออกแบบการเรียนการสอน สาขาปรัชญาจะต้องมีบูรณาการเพื่อสอดรับกับยุคสมัยปัจจุบัน จึงต้องปรับตัวในมิติของหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนจึงจะอยู่รอดในยุคที่เปลี่ยนแปลงแบบหักศอก  

ช่วงท้ายสุด พระเทพปวรเมธี, รองศาสตราจารย์ ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวปิดการสัมมนาทางวิชาการสอนปรัชญาอย่างไรให้เข้าถึงสาระ โดยกล่าวขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ พร้อมเสนอว่า แนวความคิดทางศาสนาเป็นแนวคิดแบบปลายปิดไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าไม่เชื่อไม่ควรวิพาก์วิจารณ์เพราะศาสดาแต่ละศาสนาศึกษามาดีแล้ว  แต่แนวคิดแบบปรัชญาสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ สามารถโต้แย้งได้ วิพากษ์ที่มีเหตุผลมารองรับเห็นด้วยเพราะอะไร ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร อย่างไร 

หน้าแรก » การเมือง