วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 20:56 น.

การเมือง

เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง! ระดับน้ำที่เสนาอยุธยา กรมชลฯเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง

วันพุธ ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564, 16.40 น.

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคอีสานตอนบน ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 15 – 16 กันยายน 2564 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำท่าตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในหลายพื้นที่ 

ทั้งนี้สถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากการปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา สถานีวัดน้ำท่า C.67 แม่น้ำเจ้าพระยา อ.เสนา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.44 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งเข้าดำเนินการตามแผนป้องกันเหตุ และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาแล้ว   

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำบริเวณหมู่ที่ 1 ต.บ้านแพน อ.เสนา ได้รับผลกระทบน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 63 เซนติเมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 1.00 เมตร ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังยังจุดเสี่ยง พร้อมทั้งประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว

ขณะที่จ.สุพรรณบุรี มีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรบริเวณหมู่ 4 ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จำนวน 752 ไร่ ระดับน้ำในแปลงนาท่วมสูง 0.60 เมตร หมู่ 10 ต.บ้านสระ อ.สามชุก  จำนวน 371 ไร่ ระดับน้ำในแปลงนาท่วมสูง 0.60 เมตร และหมู่ 6 ต.สระแก้ว อ.เมือง จำนวน 976 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก ได้เข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวม 6 เครื่อง ตามจุดเสี่ยงต่างๆ พร้อมระบายน้ำจากคลองระบาย 5 ขวา สามชุก 1 ลงคลองระบายใหญ่สามชุก 1 และสูบน้ำจากคูสาธารณะลงคลองระบายใหญ่สามชุก 2 ตามลำดับ อีกทั้งนำรถแบ็คโฮกำจัดวัชพืชในคลองระบาย 5 ขวา สามชุก 1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอีกด้วย

ส่วนสถานการณ์น้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก หลายแห่งมีระดับน้ำสูงขึ้น โดยเฉพาะที่จังหวัดปราจีนบุรี ระดับน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี ที่สถานีวัดน้ำท่า Kgt.3 อ.กบินทร์บุรี สูงกว่าตลิ่ง 0.71 เมตร มีแนวโน้มลดลง ที่จังหวัดนครราชสีมา แม่น้ำมูล ที่สถานนีวัดน้ำท่า M.173 อ.โชคชัย มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.36 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วย

"บิ๊กตู่"เยือนชัยนาทมอบนโยบายบริหารจัดการน้ำ 

เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุม สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ การระบายน้ำเจ้าพระยามีศักยภาพการระบายน้ำฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวม 625 ลบ.ม./วินาที แยกเป็น ฝั่งตะวันตกมีศักยภาพการระบายน้ำ 465 ลบ.ม./วินาที และฝั่งตะวันออกมีศักยภาพการระบายน้ำ 160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งคาดว่าปลายเดือนกันยายนจะมีปริมาณฝนมากขึ้น แต่ยังสามารถระบายน้ำลงสู่พื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ส่งผลกระทบในภาพรวม สำหรับจังหวัดชัยนาท มีแผนงาน/โครงการภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 54 โครงการงบประมาณ 1,334.84 ล้านบาท พื้นที่ชลประทานรับประโยชน์ 92,694 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,948 ครัวเรือน พื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 8,000 ไร่ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 8.80 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มแนวป้องกันตลิ่ง 1.95 กม.
          
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุปฯ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีนำความห่วงใยของรัฐบาลมาฝากพี่น้องประชาชน รวมทั้งต้องการรับฟังปัญหา และนำข้อมูลในพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ พร้อมนำบทเรียนที่ผ่านมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาครบทุกมิติทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วมด้วย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจจะลงให้ครบทุกพื้นที่ด้วย
         
ที่ประชุม นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ส่วนราชการและ สส. ในพื้นที่นำประสบการณ์ ข้อมูลเดิมมาบริหารจัดการ เตรียมแผนให้พร้อม โดยเฉพาะต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า พร้อมสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจ ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำเรื่องการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำ ให้มีการระบายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องไม่เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งต้องมีการวางแผนกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร
          
นายกรัฐฒมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด และพร้อมให้การสนับสนุนแผนงาน/โครงการ ต่างๆ ที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาในภาพรวม เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
          
จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้ตรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อเตรียมรับน้ำเหนือหลากและวางแผนป้องกันพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ณ เขื่อนเจ้าพระยา ต่อไป

หน้าแรก » การเมือง