วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:54 น.

การเมือง

ส.ส.ระยองจี้ "สุริยะ" สั่งการ ผู้ว่า กนอ. เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลมาบตาพุด

วันพุธ ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565, 16.23 น.

ส.ส.ระยองจี้  "สุริยะ" สั่งการ ผู้ว่า กนอ. เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลมาบตาพุด "ดร.ธรณ์" ชี้ต้องเฝ้าระวังเขตเมืองถึงก้นอ่าว

เมื่อวันพุธที่ 26 มกราคม 2565   นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ นายธารา ปิตุเตชะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 เวลา 21.06 น. เกิดเหตุท่อส่งน้ำมัน บริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟนิ่ง จำกัด รั่วในทะเลระยองบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนน้ำมันดิบในน้ำทะเลบริเวณดังกล่าว เกรงว่าคราบน้ำมันดิบจะแพร่กระจายสู่ทะเลชายฝั่งเกาะเสม็ด หาดแม่รำพึง แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดระยอง ตลอดจนสัตว์ทะเลปนเปื้อนสารพิษ ด้วยความห่วงใย จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งกำจัดคราบน้ำมันเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมการท่องเที่ยว และการประมงโดยเร่งด่วนเร่งตั้งกองทุนเยียวยาและฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากผลกระทบคราบน้ำมันดิบ อนึ่ง ในปี 2556 เคยเกิดเหตุท่อน้ำมันดิบรั่วกลางทะเลระยองมาครั้งหนึ่งแล้ว จึงอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

"สุริยะ" สั่งการ ผู้ว่า กนอ. เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วท่าเรือมาบตาพุด 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับรายงานน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ใน ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ม.ค.2565 โดยเจ้าหน้าที่สามารถปิดวาล์วน้ำมันได้ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืน

ทั้งนี้ ได้มอบหมายห้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบโดยเร็วที่สุด เพื่อติดตามสถานการณ์และหาสาเหตุพร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขต่อไป

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ภายหลังได้รับข้อสั่งการได้เร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ทันที โดยได้รับรายงานประมาณการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลไม่เกิน 1.6 แสนลิตร หรือคิดเป็น 128 ตัน คิดเป็น 0.04% ของน้ำมันในเรือ ขณะที่เรือมีความจุประมาณ 3.2 แสนตัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังปิดวาล์วที่เกิดเหตุได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่ได้ทำการล้อมพื้นที่ที่น้ำมันดิบรั่วไหลในรัศมีไม่เกิน 1 ตารางกิโลเมตร พร้อมทั้งได้มีการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spill Dispersant) โดยจุดเกิดเหตุนั้นห่างจากชายฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินสถานการณ์ว่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก

เบื้องต้น กนอ. หาสาเหตุของการรั่วไหล พบว่า ท่อดังกล่าวมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ต่อไปจะขอดูแผนในการดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงอายุการใช้งานของท่อว่ามีอายุการใช้งานเท่าไหร่ จำเป็นต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแผนให้มีความเหมาะสมหรือไม่

เพื่อจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาวางแนวทางให้เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมคิดและวางแผนในการดูแลและบำรุงรักษาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกในอนาคต

อย่างไรก็ดี ภายหลังเกิดเหตุทางบริษัทได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบในพื้นที่ทันที โดยหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมจะทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

"ดร.ธรณ์" ชี้ต้องเฝ้าระวังเขตเมืองถึงก้นอ่าว 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นต่อกรณี ท่อส่งน้ำมันกลางทะเลของ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน เกิดเหตุรั่วไหลในทะเลพื้นที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง โดยโพสต์ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า " อัพเดท - ข้อมูลล่าสุดจากกรมทะเล รายงานว่าบริษัทแจ้งว่าน้ำมันรั่วไม่ถึง 4 แสนลิตร แต่รั่วออกมา 160,000 ลิตร กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ครับ กรณีของน้ำมันรั่วที่ระยอง 4 แสนลิตร ตอนนี้เริ่มมีความชัดเจน จึงนำมาอธิบายกับเพื่อนธรณ์ น้ำมันดิบ อย่างน้อย 4 แสนลิตร รั่วนอกฝั่ง ห่างไป 20 กม. เป็นกรณีคล้ายเกาะเสม็ด น้ำมันดิบเหมือนกัน รั่วนอกฝั่งเหมือนกัน แต่ปริมาณหนนี้เยอะกว่า ดูจากคลิปวิดีโอ เห็นชัดว่าน้ำมันแผ่ขยายกว้างมาก จุดแตกต่างนอกจากปริมาณ คือปัจจัยสิ่งแวดล้อม ลมพัดขึ้นเหนือไม่ค่อยแรง ต่างจากครั้งก่อนที่ลมพัดไปทางตะวันออก ค่อนข้างแรง พื้นที่เกิดผลกระทบอาจต่างกัน หนนี้น่าจะเป็นชายฝั่ง เมืองระยอง หาดแม่รำพึง ก้นอ่าว ฯลฯ ตรงนั้นเป็นหาดทรายยาว หากน้ำมันดิบมาถึงหาดทราย อาจเกิดคราบดำบนหาดหรือเกิดก้อนน้ำมันดิบ การกำจัดคราบน้ำมันจากหาดทรายทำยากมาก เราอาจใช้แผ่นซับ เก็บก้อนน้ำมันดิน ไปจนถึงตักหน้าทรายออก แต่ทุกอย่างยากหมด วิธีดีสุดคืออย่าให้ถึงฝั่ง ลมค่อนข้างเบา พอมีเวลา ใช้บูมดัก กวาดน้ำมันออก ใช้สารเคมีทำให้จมตัวลง

เน้นย้ำว่าสารเคมีต้องใช้ในที่ลึก อย่าใช้ในที่ตื้นเกินไป เพราะน้ำมันกับสารจะแตกตัวไม่ทัน ไปกองที่พื้นก่อน ความลึกแค่ไหนมีในคู่มือการใช้อยู่แล้ว ขอเพียงทำตามและระวังให้มาก เพราะพื้นทะเลแถวนั้นเป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน ตอนนี้หลายท่านลงพื้นที่แล้ว แต่ข้อจำกัดของเราอยู่ที่อุปกรณ์ แม้จะมีการพัฒนาการรับมือจากประสบการณ์คราวก่อน แต่ยังต้องระวังเพราะครั้งนี้ถือว่าเยอะ กรมควบคุมมลพิษใช้โมเดล คาดว่าจะถึงฝั่ง 180,000 ลิตร ถือว่าเยอะจนน่าเป็นห่วง ระบบนิเวศหลัก ๆ ที่ได้ผลกระทบคือหาดทราย พื้นที่เฝ้าระวังอย่างมากคือเมืองระยองถึงก้นอ่าว หญ้าทะเลอยู่ที่บ้านเพ/สวนสน อาจได้รับผลบ้างแต่คงน้อย เพราะช่วงนี้น้ำไม่ลงต่ำจนแห้ง คราบน้ำมันไม่น่าลงไปบนหญ้าโดยตรง ทิศทางลมไม่ได้ไปทางเกาะเสม็ด แนวปะการังอาจได้รับผลไม่มาก แต่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่เดิม เช่น อ่าวพร้าว สรุปแล้วให้เน้นหาดทรายกับพื้นท้องทะเลเป็นหลัก ความคืบหน้าจะแจ้งมาเรื่อย ๆ ครับ"

หน้าแรก » การเมือง