วันอังคาร ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 07:09 น.

การเมือง

อย่ากดดันมาก! "ไพศาล" มั่นใจ "ชัชชาติ" จัดการปมรถไฟฟ้าสายสีเขียวยึดตามกฎหมาย อย่ากดดันมาก

วันพุธ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 08.21 น.

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2565  นายไพศาล พืชมงคลนักกฎหมายอิสระ โพสต์ Facebook ระบุว่า ยิ่งกดดัน-จี้ ชัชชาติให้เร่งจัดการเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็เท่ากับเอาหัวไปให้เขาตี!!!!

1. รถไฟฟ้าสายสีเขียวคาราคาซังเป็ปัญหามานานแล้ว  ไม่แก้ไขหรือแก้ไม่ได้ ก็เพราะมีการทุจริต และไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่กินไม่เข้าคายก็ไม่ออก จึงคาราคาซังมาจนถึงวันนี้ จะไปกดดันชัชชาติเขาเพื่อสิ่งใด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชัชชาติเขาจะต้องทำเป็นเรื่องแรกๆอยู่แล้ว

2. เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง ทรัพย์สินทั้งหมดเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายนี้ตกเป็นของกรุงเทพฯ ซึ่ง กทม.อาจทำเองหรือให้สัมปทานใหม่ก็ได้ คาดว่าจะมีการให้สัมปทานใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะยกให้ใครได้ตามอำเภอใจเหมือนที่คิดจะทำกันมาแต่ก่อน!!! เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุน ซึ่งเชื่อว่าชัชชาติจะปฏิบัติตามกฎหมาย และจะไม่ยอม ปฏิบัติตามคำสั่งหรือความกดดันของใครเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้น จึงหวังได้ว่าชัชชาติจะจัดการเรื่องนี้ไปตามบทกฎหมาย และอาจนำไปสู่การเช็คบิลผู้กระทำความผิดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรุงเทพมหานครหลายหมื่นล้านบาท!!!!

คาดว่าจะมีตั้งคณะตรวจข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ซึ่งใช้เวลาไม่กี่วัน จากนั้นก็เดินหน้าไปตามอำนาจหน้าที่และกฎหมาย ประชาชนกำลังจับจ้องมองดูเรื่องนี้กันอยู่

"ชัชชาติ" ย้ำรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่ออายุสัมปทานต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว  ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุรอหารือกับนายชัชชาติว่า ต้องดูรายละเอียด 3 เรื่อง คือ เรื่องหนี้สิน, สัญญาเดินรถ และเรื่องการต่อสัญญา 40 ปี โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

"คงต้องถามกลับไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า ทำไมถึงต้องต่อสัญญาสัมปทานถึง 40 ปี โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะผมมองว่า พ.ร.บ.ร่วมทุน เป็นเรื่องดีที่มีคนนอกหน่วยงานมาดูแล ไม่ใช่แค่คณะกรรมการชุดเล็ก ๆ ที่ตั้งขึ้นมา และมีการแข่งขันราคากัน ซึ่งหากมีการแข่งขันราคา ก็จะได้เห็นราคาที่เป็นธรรมขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้มีอคติว่าผิดหรือถูก แต่เชื่อมั่นในระบบที่มี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ"

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า กรณีหนี้สินค่าก่อสร้างที่รัฐบาลโอนมาให้ กทม. กว่า 6 หมื่นล้านบาท ต้องดูว่าผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่ สภา กทม. รับรองมีมติหรือยัง ซึ่งหากมีมติรับถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องว่าไปตามหลักการ

รวมทั้งพิจารณาถึงสัญญาจ้างการเดินรถที่ผ่านมา ถูกกฎหมาย มี พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ เพราะเป็นสัญญาจ้างระยะยาว

ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า คงไม่ได้พูดคุยกับรัฐบาลโดยตรง แต่จะส่งเป็นหนังสือชี้แจงความเห็นเข้าไปเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตนมองว่า กทม. เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจของรัฐบาลเท่านั้น และมองว่าควรต้องคิดให้รอบคอบก่อน

เพราะถ้าผ่าน ครม. แล้วคงแก้ไขยาก และ ครม. เองยังมีความเห็นแย้งกัน ดังนั้นคงไม่ผิดที่จะขอดูให้ละเอียดก่อน ยืนยันว่าเป็นเรื่องเหตุผล ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ และส่วนตัวยืนยันในหลักการว่า หากไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เท่ากับไม่ตรงตามหลักการของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะผ่าน มาตรา 44 มา

ส่วนในอนาคตจะมีการใช้บัตรใบเดียวในการเชื่อมต่อการเดินทางหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า บัตรใบเดียวเข้าทุกระบบได้ก็มีความเป็นไปได้ แต่ที่กังวลคือโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมที่มีความซ้ำซ้อน เพราะบัตรใบเดียวอาจจะจ่ายแพง เนื่องจากมีค่าแรกเข้า

ตนมองว่า กทม. กับ BTS ควรต้องหารือกันเองก่อน ว่าถ้ามีส่วนต่อขยายเข้ามาพื้นที่สัมปทาน BTS เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่มีค่าแรกเข้า และหากมีโอกาสหารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ก็ควรหารือถึงราคาค่าแรกเข้าด้วย

บิ๊กอสังหาฯอ้อน "ชัชชาติ" ผุดรถไฟฟ้าสายสีเทา

นายธงชัย บุศราพันธ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้วงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความตื่นตัวหลังนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) คนใหม่ ในส่วนของโนเบิลอยากให้ผู้ว่าฯคนใหม่กระตุ้นการลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ เพื่อพัฒนาเมืองและเชื่อมต่อการเดินทางให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะเร่งการลงทุนรถไฟฟ้ารางเดี่ยวสายสีเทาเฟสแรกช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เชื่อมการเดินทางพื้นที่กรุงเทพฯในแนวเหนือ-ใต้ เป็นทางเลือกเพิ่มจากปัจจุบันมีสายสีเขียวและสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ขณะที่พื้นที่ในแนวตะวันออก-ตะวันตกมีสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรงและสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรีต่อเชื่อมการเดินทางอยู่แล้ว

"ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันถือว่าของไทยค่ยังถูกกว่าต่างประเทศ แต่คนยังมองว่าแพง เพราะเกี่ยวกับค่าครองชีพและค่าเดินทางที่สูงขึ้น เช่น บางคนต้องค่ามอเตอร์ไซด์รับจ้าง ค่ารถสองแถวเพื่อมาต่อรถไฟฟ้า ดังนั้นควรเพิ่มรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ เป็นทางเลือกให้ประชาชนเพิ่ม ในราคาที่จ่ายได้"นายธงชัยกล่าวและว่า

สำหรับแผนไตรมาสที่2 มีเปิดตัว 5 โครงการ มูลค่ารวม 12,300 ล้านบาท ในย่านพระราม9 คูคต-ลำลูกกา บริเวณเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา และถนนราชพฤกษ์ เป็นต้น ซึ่งทยอดเปิดขายโครงการแล้ว พบว่ายอดจองเกิน 50% เช่น โครงการคอนโดมิเนียม นิว ครอส คูคต สเตชัน เฟสแรก เปิดขายเมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

นายศิระ อุดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานพัฒนาธุรกิจ 2 บมจ.โนเบิล กล่าวว่า วันที่ 3-5 มิถุนายนนี้ จะเปิดขายโครงการโคฟ นอร์ธ ราชพฤกษ์ เฟสแรก 14 ยูนิต เป็นทาวน์เฮ้าส์ 3.5 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 160- 200 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 7-12 ล้านบาท บนเนื้อที่ 9 ไร่เศษ ติดถนนใหญ่และโลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ ที่เตรียมพัฒนาทั้งหมด 190 ยูนิต มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่โนเบิลเข้าไปลงทุนโซนราชพฤกษ์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเทาเฟสแรกช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มีระยะทาง 16.3 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 27,899 ล้านบาท โดยกทม.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน ปี 2567-2568 สร้างเสร็จเปิดบริการปี 2573 แนวเส้นทางจะเชื่อมต่อ 5 รถไฟฟ้า มี 15 สถานี เริ่มต้นจากแยกต่างระดับรามอินทราเชื่อมสายสีชมพู เลาะแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม(เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา) ข้ามถนนเกษตรนวมินทร์เชื่อมสายสีน้ำตาล เชื่อมสายสีเหลืองที่ถนนลาดพร้าว ผ่านถนนพระราม 9 เชื่อมสายสีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) เมื่อข้ามแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เลี้ยวเข้าถนนเพชรบุรี และซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) สิ้นสุดสถานีทองหล่อต่อเชื่อมสายสีเขียว

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง