วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 09:49 น.

การเมือง

"บิ๊กตู่" เป็นห่วงพื้นที่ชุมชนแออัด หวั่นเกิดเหตุเพลิงไหม้ซ้ำซ้อน สั่งหน่วยงานดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าเก่าแล้ว

วันจันทร์ ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 16.01 น.

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ย่านตลาดสำเพ็ง เมื่อวาน ที่ผ่านมา(26 มิ.ย.) ว่า เมื่อต้นทราบเหตุไฟไหม้ ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดูแลพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานราชการก็ลงไปดูแลช่วยเหลือ เช่นเดียวกับ เหตุไฟไหม้บ่อนไก่ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอฝากเตือนโดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนแออัด หรือที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ทันสมัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เข้าไปรับผิดชอบ จะต้องเข้าไปรับผิดชอบดูแล และขอให้มีการกวดขันตรวจตรา เนื่องจากไม่อยากให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังกล่าวถึงเรื่องการดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ว่า เป็นการรายงานความคืบหน้า และรับทราบผลการดำเนินการในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมีผลเป็นรูปธรรมในหลายจังหวัดแล้ว แต่หลายพื้นที่ยังคงมีปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างรัฐต่อรัฐ และระหว่างประชาชน ซึ่งได้มีการมาตราการ 1:400 แก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ซึ่งวันนี้ได้มีข้อสรุปอยู่หลายประการเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ยังได้นำเรื่องร้องเรียนของประชาชน เข้าพิจารณาในที่ประชุมคทช.ในวันนี้ด้วย โดยเฉพาะป่ารุกคน คนรุกป่า มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเข้าไปทำกินในพื้นที่ป่า และพื้นที่พัฒนาเพื่อความมั่นคง ซึ่งต้องทำทุกพื้นที่ให้เกิดความชัดเจน และการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงานจะต้องไม่มีปัญหาซึ่งกันและกัน ประชาชนต้องได้รับการดูแล ได้รับสิทธิ์การพิสูจน์สิทธิ์เพื่อให้เกิดความชัดเจน ตนเข้าใจว่ามีประชาชนเดือดร้อนอยู่หลายพื้นที่

เมินโพล หนุน "อุ๊งอิ๊ง" นายกฯ ชี้ ไม่ตรงสักอัน โวย สื่อแฟร์หน่อย

พล.อ.ประยุทธ์  แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ถึงกรณีนิด้าโพล เผยผลสำรวจถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มาอันดับ 1 ร้อยละ 25.28 ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ มาอันดับ 4 ได้ร้อยละ 11.68 ว่า "โพลคือโพลนะ ก็แล้วแต่ใครจะทำ ก็เห็นทำ 3-4 อันก็ไม่ตรงกันสักอัน ก็ใช้วิธีการโทรศัพท์บ้าง อะไรบ้าง เพราะฉะนั้นก็ฟังไว้นะ ดูไว้แล้วกัน ผมก็ต้องทำงานโดยการประเมินจากการทำงานและผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก"

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนประชาชนจะพอใจอย่างไรก็แล้วแต่ เพราะตนก็ทำเพื่อส่วนรวมอยู่แล้ว ทำเพื่อคนจำนวนมากอยู่แล้วในทุกมิติ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นงานมันย่อมจะมีความยากง่ายในการแก้ปัญหาที่ต่างกัน เราจำเป็นต้องดูคน 70 ล้านคนให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง นั่นคือความตั้งใจของเราคือเจตนารมย์ของเรา

นายกฯ กล่าวว่า อะไรที่มีปัญหามีอุปสรรคก็แน่นอนมันต้องมี บริหารคนจำนวนมาก หรือต้องใช้หน่วยงานหลายหน่วย นั่นคือเรื่องที่เราต้องสังคายนา การบูรณาการให้ได้ 100% จริงๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจว่าจะให้ทำหรือไม่ให้ทำ ทุกเรื่องต้องฟังความคิดเห็นประชาชนทั้งสิ้นไม่ใช่พูดเปล่าๆ แล้วทำได้เลย มันทำไม่ได้หรอก ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบ

เมื่อถามว่าต้องประเมินหรือไม่ ถึงเหตุผลที่ประชาชนยังไม่เข้าใจ นายกฯ กล่าวว่า "ส่วนใหญ่ก็มาในสื่ออ่ะนะ สื่อก็ต้องเปิดดูแล้วกัน ตั้งแต่หน้า1ถึงหน้า4 หน้า5หน้า6 บางเล่มไม่มีอะไรดีสักอัน มองให้มันเป็นธรรมหน่อยแล้วกัน" นายกฯ กล่าว ก่อนจะเดินออกจากโพเดียม ขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า

"ชัยวุฒิ" นัด "ชัชชาติ" ถกนำสายสื่อสารลงดิน ทุ่มงบ 20,000 ล้านบาท

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ดีอีเอส พร้อมด้วย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เตรียมพูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ถึงเรื่องการบริหารจัดการสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน สำหรับการดำเนินการหน่วยงานรัฐ เอ็นทีจะเป็นผู้จัดทำ  นอกจากนี้ ได้ประเมินงบลงทุนในกรุงเทพฯ ทั้งหมดประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนเอง เพื่อช่วยบรรเทาด้านราคาต้นทุนที่ภาคเอกชนต้องจ่าย คาดว่าจะทยอยทำให้เสร็จทั่วกรุงเทพฯใน 3-4 ปีนี้

ส่วนเรื่องการจัดสรรเงินมาลงทุนจะมาจากเงินงบประมาณ หรือจากกองทุนดีอี ภายใต้กองทุนสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) แต่ขอศึกษารายละเอียดก่อน ซึ่งคาดว่า จะไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้ในปีนี้ เพราะการจราจรจะติดขัด แต่จะทยอยดำเนินการในกรุงเทพฯให้ได้มากที่สุด แม้ที่ผ่านมาอาจมีข้อติดขัดจึงเกิดความล่าช้าจากแผนดำเนินการของรัฐ ด้วยงบประมาณสูงจึงทำได้ยาก ขณะที่ ผู้ให้บริการไม่สามารถคิดราคาค่าบริการจากประชาชนได้เพิ่มขึ้น สวนทางกับการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น หากรัฐคิดอัตราค่าเช่าท่อร้อยสายใต้ดินสูง ผู้ประกอบการอาจสู้ราคาไม่ไหว

"การดำเนินโครงการ นำสายสื่อสายลงท่อร้อยสายใต้ดิจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แต่รัฐมีเงินอุดหนุนน้อย แผนจึงทำได้ยาก แต่เมื่อมี กสทช.ชุดใหม่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จึงอยากร่วมกับหลายหน่วยงานวางแผนใหม่ เพื่อนับหนึ่งกันใหม่ อดีตก็ลืมมันไป" นายชัยวุฒิกล่าว

หน้าแรก » การเมือง