วันอังคาร ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 21:03 น.

การเมือง

"บิ๊กตู่" โยน "ศาลรธน." ชี้ชะตา 8 ปี นั่งนายกฯ สวนสื่อ "จะกังวลอะไรเล่า"

วันศุกร์ ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 15.44 น.

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565  ที่สยามพารากอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว. กลาโหม ปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชน เรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี มีความกังวลอะไรหรือไม่โดยพล.อ.ประยุทธ์ ระบุเพียงสั้นๆ ว่า ให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญโน้น  เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่ใกล้วาระครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดว่า “จะกังวลอะไรเล่า”  เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว

ปาฐกถาพิเศษงาน TCAC  มุ่งใช้นโยบายเศรษฐกิจ BCG เป็นกลไกหลักในการสร้างความสมดุลแห่งการพัฒนา

ทั้งนี้ เวลา 10.10 น. ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) จัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด“อนาคตไทย อนาคตโลก: โอกาสและความรับผิดชอบ (Our Future: Our Responsibility, Our Opportunity)”  

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้กำหนดทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในทุกมิติร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทต่าง ๆ ที่มุ่งสู่การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุม 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ (1) การลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาวที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (2) การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (3) สนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนามาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการคลัง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปรับตัวสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่แสดงเจตนารมณ์ต่อ United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC 

ในทางเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ BCG Economy เป็นกลไกหลักสร้างความสมดุลของไทย ทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้นำมาตรการการเงินสีเขียว มาผลักดันการลงทุนในนวัตกรรมและธุรกิจสีเขียว นอกจากนี้ ได้ปรับรูปแบบทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ เร่งการเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้ไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญระดับโลก ควบคู่กับการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งภาคเอกชนปรับกระบวนทัศน์เพื่อมุ่งสู่การผลิตและการบริการที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนต่ำรับโอกาสทางธุรกิจ ที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนบนฐานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจหลายองค์กร เริ่มปรับตัว ให้ความสำคัญ และให้ความร่วมมือ จากการทำฉลากคาร์บอน-ฟุตพริ้นท์ การลดและเลิกใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอนที่ทำลายชั้นบรรยากาศในอุตสาหกรรมทำความเย็น และการส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ในการก่อสร้างและเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์คอนกรีต

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงนโยบาย BCG Economy ที่จะช่วยตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรชีวภาพ นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยมีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติปรับใช้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  โดยรัฐบาลมุ่งเน้นเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580

หน้าแรก » การเมือง