วันอังคาร ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567 20:37 น.

การเมือง

ชี้เหตุ"ชูวิทย์"ขยับเรื่องรถไฟฟ้าเพราะป้องเอกชน เหตุกทม.ต่อสัญญาสายสีเขียวที่ส่อแววทุจริต

วันอังคาร ที่ 07 มีนาคม พ.ศ. 2566, 15.37 น.

วันที่ 7 มีนาคม 2566 รายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทยแจ้งว่ากรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ออกมาเคลื่อนไหวโจมตีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่าอาจมีการทุจริตเพราะมีการเตรียมรับเงินสามหมื่นล้านบาทให้บางพรรคหากโครงการนี้เดินหน้า    เพราะล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด มหาชน (บีทีเอส) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนไปแล้วก็ตามแต่ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องอยู่ในชั้นศาลอีกสามคดีนั้น

รายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทยแจ้งว่า แกนนำพรรคทราบแล้วว่า พรรคและกลุ่มทุนใดบ้างที่ให้ข้อมูลนายชูวิทย์นำมาเคลื่อนไหวซึ่งเป็นประเด็นเก่าและไม่มีหลักฐาน  ทั้งนี้ยังทราบว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของนายชูวิทย์นั้นมีการเชื่อมโยงไปยังการตรวจสอบการทุจริตกรณีเมื่อกลางปี2555 กทม.ได้ลงนามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส วงเงิน 190,054.8 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปีโดยกรณีนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของปปช.

รายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทยแจ้งว่า   พรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องนี้ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)สอบสวนและมีการชี้มูลความผิด แม้จะมีการยื่นเรื่องนี้ต่ออัยการสูงสุดไปแล้ว โดยเมื่อปี2556อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องเอกชนบางราย และให้ดีเอสไอส่งเรื่องนี้ต่อปปช.พิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งฝ่ายค้านยังอภิปรายเรื่องนี้เป็นระยะ และหากนับอายุความการพิจารณาคดีถึงตอนนี้ก็ใกล้จะขาดอายุความในปีนี้ จึงเป็นไปได้ว่านายชูวิทย์ประสานงานกับเอกชนบางรายที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้เพื่อเคลื่อนไหวเพราะหากมีการชี้มูลความผิดกับผู้บริหารกทม.และเอกชนรายนี้นั้น จะส่งผลกระทบกับเอกชนรายนี้ค่อนข้างมากกับสัมปทานที่ได้รับจากภาครัฐ

รายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทยแจ้งว่า  หากไล่เรียงไทม์ไลน์คือ     เมื่อวันที่3 พ.ค. 2555 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ลงนามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ในวงเงิน 190,054.8 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี ในการบริหารการเดินรถส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง ส่วนต่อขยายตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะเวลา 30 ปี และต่อสัญญาโครงสร้างบีทีเอสตามสัญญาสัมปทานเดิม (หมอชิต-อ่อนนุชและสนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน 23 กิโลเมตร) ที่จะสิ้นสุดในปี 2572 โดยจ้างบริหารต่ออีก 13 ปี และ ส่วนต่อขยายจากวงเวียนใหญ่-บางหว้า (เพชรเกษม)ที่เปิดให้บริการปี 2555อีก 30ปี   

โดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้เป็นการจ้างบริหารระยะยาว ไม่ใช่การขยายสัมปทาน ซึ่งกทม.จะได้รายได้ถึง 3 แสนล้านบาท หลังจากที่สัมปทานของเส้นทางเดิมสิ้นสุดที่ทรัพย์สินจะเป็นของ กทม.และมีรายได้จากค่าโดยสารทั้งหมด

ต่อมามีการยื่นเรื่องให้ดีเอสไปตรวจสอบและพบว่าวันที่2ม.ค.2556ดีเอสไอ ได้ทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาผู้บริหารกรุงเทพมหานครและผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 คน และอีก 2 องค์กร คือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในข้อหา ร่วมกันประกอบกิจการรถรางโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กรุงเทพมหานครร่วมบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ทำการต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายใหม่ 3 เส้นทาง เพิ่มเติมจาก สัญญาสัมปทานเดิม เป็นเวลา 30 ปี กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

วันที่10ก.ย.2556 สำนักงานอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ  และมีความเห็นส่งสำนวนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับพวกรวม 10 คน ส่งคืนให้ดีเอสไอ เพื่อให้ทางดีเอสไอส่งสำนวนต่อไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการพิจารณาไต่สวนต่อตามอำนาจหน้าที่ เพื่อจัดรูปแบบองค์อำนาจการสอบสวนให้มีความเป็นระบบ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ต่อมาช่วงกลางเดือน พ.ย.2564 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้หารือกันในคดีที่ ป.ป.ช. ได้มีตั้งแต่งตั้งองค์คณะชุดใหญ่ ไต่สวนฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  กับพวก กรณีว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางไปจนถึงปี 2585   ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว     โดยที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติให้ กรรมการ ป.ป.ช.เจ้าของสำนวนคดี รับข้อสังเกตของที่ประชุม ป.ป.ช.ไปดำเนินการไต่สวนฯเพิ่มเติมใน 7 ประเด็น

รายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทยแจ้งว่า สรุปคือเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวและคนที่ค้านการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มคือเอกชนรายเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายกฟ้อง คดีที่ อท.30/64 กรณี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้อง นายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นจำเลยที่ 1 และพวกรวม 7 คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการ มาตรา36 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและไม่กี่วันที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด มหาชน (บีทีเอส) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนได้

เมื่อศาลตัดสินแบบนี้ก็ต้องยุติ และหากปปช.ชี้มูลกรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่ามีมูลความผิด เรื่องนี้จะกระทบกับชื่อเสียงและราคาหุ้นของเอกชนรายนี้อย่างไร และต้องสอบถามนายกรัฐมนตรีว่า การต่อสัญญาให้เอกชนรายนี้จะโมฆะหรือไม่หากมีการชี้มูลจากปปช.ต้องถามว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไปในเรื่องนี้

 

หน้าแรก » การเมือง