วันพุธ ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2568 02:21 น.

การเมือง

“อรรถวิชช์” ท้วง กกต.กทม.แบ่งเขตเลือกตั้งแบบที่ 1,2 ผิด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.

วันอาทิตย์ ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2566, 14.44 น.

“อรรถวิชช์” ท้วง กกต.กทม.แบ่งเขตเลือกตั้งแบบที่ 1,2 ผิด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. รวมตำบลเป็นเขตเลือกตั้งไม่ได้ พบเกือบทุกเขตเลือกตั้ง มีการระเบิดเขตแยกแขวงมารวมเขตใหม่

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566  ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร 4 รูปแบบ ที่กำลังจะหมดเขตรับฟังความเห็นประชาชนวันพรุ่งนี้ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของ กกต. ภายในสัปดาห์นี้ โดยการแบ่งเขตที่ กกต.กทม. นำเสนอมา 4 รูปแบบ พบว่ารูปแบบที่ 1 และ 2 เข้าข่ายผิดกฎหมาย ขัดมาตรา 27 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ “ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง” และ “การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน” เป็นเรื่องหลักในการแบ่งเขต แต่การแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 และ 2 กลับใช้วิธีรวมตำบล(แขวง) ต่างๆ มาประกอบเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ โดยเขตเลือกตั้ง กทม. ทั้งหมด  33 เขต รูปแบบที่ 1 มีการแบ่งแขวงต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ถึง 27 เขต รูปแบบที่ 2 มีการรวมแขวงต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ถึง 30 เขต และรูปแบบที่ 1 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อนเพียง 4 เขต รูปแบบที่ 2 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเพียง 2 เขตเท่านั้น

ดร.อรรถวิชช์ ยังยกตัวอย่างเขตจตุจักร การแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบที่ 3 และ 4 กำหนดให้เขตจตุจักรทั้งเขตเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องทั้งหลักการรวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง และหลักการเคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อนเหมือนการเลือกตั้งปี 2554 และ 2557 ค่าเฉลี่ยจำนวนประชาชนก็มีส่วนต่างไม่ถึง 10% แต่รูปแบบที่ 1 และ 2 กลับแยกร่างเขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตบางเขน โดยแยกเอาเฉพาะแขวงจันทรเกษมและแขวงเสนานิคมของเขตจตุจักร ไปรวมกับแขวงท่าแร้งของเขตบางเขน และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ มารวมเป็นเขตใหม่ เกิดความวุ่นวายสับสน และเป็นแบบนี้เกือบทุกเขตเลือกตั้ง

“การแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 และ 2 นอกจากผิดกฎหมายชัดเจนแล้ว ยังสร้างความสับสนให้ประชาชนที่คุ้นเคยกับเขตเลือกตั้งเดิม เขาไม่ได้เลือกผู้แทนของเขตเลือกตั้งเดิมเคยทำงานในพื้นที่มา ขณะที่รูปแบบที่ 3 และ 4 เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุด เพราะมีเขตเลือกตั้งที่ถูกแยกเขวงเพียง 8 เขต โดยเฉพาะรูปแบบที่ 3 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเดิมที่คุ้นเคยมาก่อนถึง 17 เขตเลือกตั้ง” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า การรวมแขวงจากเขตต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ เป็นหลักการพิศดาร นอกจากไม่สอดคล้องกับกฎหมายแล้ว ยังพบรูปร่างของเขตที่พยายามคดเข้าไปรวมบางแขวงที่ไม่เข้ากัน มีรูปร่างประหลาด ซึ่งหลักวิชาการเรียกการแบ่งเขตที่รูปร่างคล้ายตัว Salamander เป็นการแบ่งเขตเพื่อความได้เปรียบ - เสียเปรียบ แบ่งเขตเพื่อกำหนดผลการเลือกตั้งไว้แล้ว ที่เรียกว่า Gerrymandering ซึ่งรูปแบบที่ 1 และ 2  เข้าใจว่า กกต.กทม. พยายามยึดระเบียบ กกต. ที่กำหนดให้ส่วนต่างระหว่างจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. ไม่ควรเกินร้อยละ 10 แต่หลักการนี้เป็นเพียงระเบียบเท่านั้น ซึ่งมีสถานะต่ำกว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่กำหนดให้ยึดหลักการรวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง และการเคยเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อน จึงขอให้ กกต. ที่กำลังจะพิจารณาเคาะเขต ยึดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการเลือกตั้งในภายหลัก หากตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย จะกระทบต่อการเลือกตั้ง

หน้าแรก » การเมือง