วันพฤหัสบดี ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:20 น.

การเมือง

พรรคก้าวไกลแถลงยันต้องการตำแหน่ง "ประธานสภาผู้แทนราษฎร"

วันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 10.19 น.

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้าการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล และชี้แจงข้อสงสัยเรื่องนโยบายก้าวไกล ยืนยันคำเดิม ต้องการตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป

3 วาระที่พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันในฐานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร”

พรรคก้าวไกลเดินทางบนเส้นทางการเมืองไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มี 3 วาระที่สำคัญมากของพรรคก้าวไกลที่เราจำเป็นต้องใช้สถานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ในการผลักดัน

วาระแรก: เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า

ตลอด 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีกฎหมายถูกเสนอเข้าสู่สภามากกว่า 478 ฉบับ แต่มีกฎหมายที่ผ่านสภาไปเพียงแค่ 78 ฉบับ เท่านั้น เฉลี่ยกฎหมาย 1 ฉบับใช้เวลาในการพิจารณากว่า 310 วัน และในจำนวนกฎหมาย 78 ฉบับที่ผ่าน เกือบทั้งหมดเป็นกฎหมายของ ครม. มีกฎหมายของ ส.ส. ซีกรัฐบาลผ่านเพียง 4 ฉบับเท่านั้น และไม่มีกฎหมายของภาคประชาชนที่ผ่านสภาเลย ทำให้เกิดสภาวะที่กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และไม่รองรับความท้าทายใหม่ๆ ได้ดีเท่าที่ควร

กฎหมายส่วนใหญ่จาก 400 ฉบับที่ตกไป ไม่ใช่เพราะผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ แต่กลับตกไปด้วยสาเหตุอื่น ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายที่รอบรรจุระเบียบวาระแต่ไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา 180 ฉบับกฎหมายที่ถูกประธานสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายการเงิน และนายกรัฐมนตรีปัดตกไม่นำเสนอเข้าสู่สภา 85 ฉบับ

มีกฎหมายที่สภาพิจารณาและถูกปัดตกไปจริงๆ เพียง 45 ฉบับเท่านั้น เท่ากับว่าร่างกฎหมายที่ถูกนำเสนออีก 355 ฉบับ ถูกปัดตกไปด้วยกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และให้อำนาจดุลพินิจแก่ประธานสภาและนายกรัฐมนตรีเพียงแค่คนใดคนหนึ่ง กลับมีอำนาจมากกว่าเจตจำนงของผู้แทนประชาชนที่เหลือ

ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับของพรรคก้าวไกลที่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร เป็นกฎหมายการเมือง 11 ฉบับ กฎหมายสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูประบบบริหารราชการ 8 ฉบับ กฎหมายบริการสาธารณะ 4 ฉบับ กฎหมายเศรษฐกิจ 4 ฉบับ กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ กฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ กระบวนการนิติบัญญัติที่ก้าวหน้าจำเป็นอย่างยิ่งในการทำให้กฎหมายเหล่านี้ได้รับการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ

วาระที่สอง: เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นวาระสำคัญ และถูกระบุไว้ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล การทำภารกิจนี้ให้ลุล่วง จะต้องผ่านการประชุมสภาหลายครั้ง และจะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในเนื้อหาที่มีความแหลมคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประธานสภาต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในการอำนวยการประชุมให้เดินหน้าไปอย่างราบรื่น เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาทุกฝ่าย และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

วาระที่สาม: ก้าวไกลจะผลักดันหลักการ “รัฐสภาโปร่งใส” และ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

“รัฐสภาโปร่งใส” หรือ Open Parliament จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ อยู่ที่ประธานรัฐสภา พรรคก้าวไกลประกาศเจตจำนงแน่วแน่ว่าจะทำให้รัฐสภาไทยโปร่งใสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมและตรวจสอบกระบวนการนิติบัญญัติ โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด

3.1 ถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ ให้พี่น้องประชาชนติดตามได้ หรือหากไปไกลกว่านั้น ก็เป็นการรายงานบันทึกการออกเสียงลงมติต่างๆ ของผู้แทนราษฎรทุกคน โดยนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ เข้าถึงง่าย และรวดเร็ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนติดตามการทำงานของผู้แทนของตนได้อย่างสะดวก ว่าในแต่ละประเด็น ผู้แทนของตนเองได้ลงมติออกเสียงไปอย่างไรบ้าง

3.2 ส่งเสริมการทำงานของสำนักงบประมาณรัฐสภา (Parliamentary Budget Office หรือ PBO) ในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้งบประมาณแผ่นดินของหน่วยงานองค์กรต่างๆ เพื่อให้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์นั้นจะถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน

3.3 ตั้งสภาเยาวชน หรือ Youth Parliament (ซึ่งอาจต่อยอดจากสภาเด็กและเยาวชนที่มีอยู่) ที่ขึ้นตรงกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้สมาชิกสภาเยาวชนทุกคนมาจากการเลือกตั้งของเยาวชนทั่วประเทศ และกำหนดให้ข้อเสนอใดที่สภาเยาวชนลงมติเห็นชอบ ถูกบรรจุเป็นวาระที่รัฐสภาต้องรับไปพิจารณาต่อโดยอัตโนมัติ ด้วยสถานะเทียบเท่ากับร่างกฎหมายที่ประชาชน 10,000 คน สามารถร่วมกันลงชื่อเสนอสู่สภาได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน

พรรคก้าวไกลต้องการให้ผู้แทนราษฎรของเราดำรงตำแหน่งประธานสภา ไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง แต่เราต้องการอำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐสภาไทยให้สามารถออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และเป็นรัฐสภาที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง

"หมอพลเดช" เตือนด้อมส้มเลิกกร่างก่อนลากพรรคพังแนะให้มีสปิริตผู้ชนะ

ขณะที่นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.โดยเฉพาะมี ส.ว.หลายคนบอกว่าจะไม่ลงมติสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)เพราะมีนโยบายจะเสนอแก้มาตรา 112 ว่าในตอนหาเสียงเรียกว่าเป็นยกที่1 มันเป็นกลยุทธ์ของเขาที่ก็ต้องเสนอคืออารมณ์ของคนในสังคมที่ต้องการเปลี่ยน ซึ่งการที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่าคุณต้องการเปลี่ยน ก็ต้องเสนอนโยบายที่ชัดเจนและแตกต่าง ที่จะทำให้เห็นว่าคุณจะเปลี่ยนจริง เพราะฉะนั้นนโยบายที่เสนอมาจึงสุดขั้ว ก็เป็นเรื่องปกติ เป็นแทคติกในการต่อสู้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อผ่านยกที่หนึ่งมาแล้ว เข้าสู่ยกที่สอง ในการตั้งรัฐบาล เมื่อไม่สามารถตั้งได้พรรคเดียวก็ต้องหาเพื่อน ทำให้ต้องเริ่มปรับจากสุดขั้วก็ต้องประนีประนอม ซึ่งการเมืองลักษณะหนึ่งมันเป็นเรื่องของการประนอมอำนาจ และประนอมผลประโยชน์กัน จะเอาตัวเองคนเดียวไม่ได้ เพราะมันจะเป็นเผด็จการความคิดทางนโยบายและอะไรต่างๆ

นพ.พลเดช กล่าวต่อไปว่า เขาก็ต้องปรับตัว พรรคนี้เขาก็ต้องเรียนรู้ เพราะการจะทำงานที่ยาก งานใหญ่ๆ มันทำคนเดียวไม่ได้ เหมือนที่เขาว่านกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน มันบินไม่ได้ นกมันบินไม่ได้ คนก็ทำงานไม่สำเร็จ ถึงต้องเรียนรู้จากชีวิตจริงแล้วค่อยๆ ปรับ ในยกที่สองอยากเห็นการปรับของเขา แล้วเขาก็ควรปรับ เพราะความจริงหลายเรื่องที่เขาพูด มันก็เป็นเรื่องดี หลายคนอยากเห็น แต่หลายคนไม่กล้าพูด อันนี้ไม่ได้พูดเรื่อง 112 แต่เรื่องอื่นเช่น กระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ เรื่องสุราพื้นบ้าน พวกนี้มันลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ไม่ให้มีการผูกขาด แต่มันต้องเป็นทางสายกลาง เพราะหากทางสายสุด มันจะไปได้ไม่ไกล เพราะก็จะมีสุดอีกขั้วหนึ่ง คอยขัดขา คอยโจมตี เพราะฉะนั้นเขาต้องปรับ แต่จะกลางมากหรือกลางน้อย ก็แล้วแต่เรื่อง

นพ.พลเดชกล่าวต่อว่า อยากเห็นเขา(พรรคก้าวไกล) มีการปรับ นอกจากปรับในท่าทีของผู้นำในพรรคที่จะไปอยู่ในสภาแล้ว เรื่องของท่าทีการพูด การปฏิบัติ หากปรับให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความเป็นสุภาพชนมากขึ้น จะดี เมื่อเขาเข้าไปอยู่ในสภา หากปรับได้ เขาจะสามารถสร้างพันธมิตรในสภาล่างที่มี 500 เสียง ในการทำงานเรื่องใหญ่ๆ ได้ รวมถึง ส.ว.ก็จะสนับสนุน

“เรื่องพฤติกรรมของคนที่เป็นสาวก คนที่เป็นกองกำลังในช่วงของการสู้รบเพื่อเอาชนะกัน ตอนนี้มันผ่านไปแล้ว แต่วันนี้ถ้าคุณยังไม่เข้าใจตรงนี้ คุณยังไปไล่บี้ ไปล่าแม่มด ทำนั่นทำนี่ สุดท้าย บังลังก์แชมป์ของคุณจะถูกทำลายด้วยกระบวนการพวกนี้ มันจะกลับมาทำลายคุณระยะยาว ไปอีกสักระยะหนึ่งมันจะเป็นเรดการ์ดไปแล้ว อันนี้พูดด้วยเมตตาธรรม ต้องปรับ เพราะหากปรับจะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่านี้อีก ก็ห่วงพวกนี้จะทำพัง”ส.ว.ผู้นี้ระบุ

นพ.พลเดช กล่าวต่อไปว่า ต้องเตือนไปยังผู้นำเขาว่าคุณชนะแล้ว สปิริตของผู้ชนะคืออะไร ก็ลองไปคิดดู ที่จะทำให้ชัยชนะยืนยาวต่อไป แต่หากไม่ระวังให้ดี ชัยชนะจะเป็นจุดเริ่มของความพ่ายแพ้ จะมาเร็วหรือมาช้า ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็เตือนกัน ซึ่งตัวนายพิธาและตัว ส.ส.ก้าวไกล รวม 151 คน ที่จะทำงานในสภา คุณต้องกลับมาทบทวนและปรับบุคลิกภาพบางอย่างให้สมกับเป็นผู้ชนะ มีสปิริตของผู้ชนะ ไม่เหยียบย่ำคนแพ้ ไม่เย่อหยิ่งทะนงงตน แล้วน้อมตัวลงไป เพื่อทำงานกับบุคคลต่างๆ โดยแม้จะมีจุดยืนของตัวเอง แต่ก็ต้องเคารพจุดยืนของคนอื่น หลักคิดของคนอื่น แล้วประนอมเข้าหากัน ซึ่งถ้าประนอมกันได้ ในที่สุดมันจะเป็นทางสายกลางได้ เขาต้องจับตรงนี้ให้ได้ เอาสิ่งที่เป็นจุดแข็งจุดที่ดีเข้ามา ประนอมเข้าหากันแล้วมันจะ วิน-วิน ที่จะทำให้สังคมและประเทศชาติ ก็จะวิน-วินไปด้วย

นพ.พลเดช กล่าวว่า จุดแข็งที่ทำให้พรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จ ก็เพราะเขาใช้สื่อโซเชียลมีเดีย การใช้ไอที และใช้ IO ซึ่ง IO ของเขา ทีมปฏิบัติการไม่ใช่น้อยๆ เป็นเรือนหมื่น เหมือนเป็นจิตอาสา อันนี้ที่ทำให้เขาสามารถชนะพวกบ้านใหญ่ได้หมดเลย และผ่านระบบอุปถัมภ์ได้หมดเลย ผ่านจนกระทั่งผ่านพวกสีเแดงมาได้ด้วย แต่เขาก็ต้องขับเคลื่อนโดยคน ซึ่งคนที่นี่หมายถึงคนที่เป็นสาวก คนที่เป็นกองกำลัง ตรงนี้ หากว่าไม่กำกับดูแลกันให้ดี แล้วไม่ปรับขบวน ไม่ปรับพฤติกรรม ตรงนี้ในที่สุด มันจะกลายเป็นจุดอ่อน และสิ่งนี้จะทำให้สิ่งที่เขาขายฝันให้ประชาชน สุดท้ายจะล่ม จะสะดุดขาล้มด้วยขบวนของตัวเอง

นพ.พลเดชยังกล่าวถึงนโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล ที่หาเสียงไว้หลายเรื่องเช่นเรื่องปฏิรูปกองทัพ และอะไรต่างๆว่า หากเขาได้เข้าไปเป็นรัฐบาลจริง พอเข้าไปทำงาน เมื่อต้องลงรายละเอียด ไปถึงขั้นของการปฏิบัติ ตรงนั้นคือยกที่สาม หลังยกแรกคือการหาเสียงเลือกตั้ง ยกที่สอง ระฆังกำลังดังตอนนี้ การจัดตั้งรัฐบาล ที่ก็ยังไม่ชัดว่าสุดท้าย จะเป็นรัฐบาลสีส้มหรือรัฐบาลสีแดง หรือจะเป็นสีอื่น ถึงตอนนี้ยังไม่รู้ แต่สมมุติว่าเป็นรัฐบาลสีส้ม ก็จะถือว่าเริ่มยกที่สาม พอขึ้นยกสาม มันก็จะยาวไปถึงยกที่สี่ ยกที่ห้า คือเป็นรัฐบาลปีที่หนึ่ง ปีที่สอง ปีที่สาม ปีที่สี่ ซึ่งยกสาม-สี่-ห้า คราวนี้ต้องเอาสิ่งที่ขายนโยบายไว้ตอนหาเสียง ก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญ อันไหนถ้าหากว่าไม่สามารถไปได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลขอไว้ ก็ต้องอธิบายกับประชาชน และเมื่อไปถึงตอนช่วงเลือก เรื่องที่จะมาทำ เช่นหากจะปฏิรูปกองทัพ ก็ต้องดูว่าใครเป็น รมว.กลาโหม หากนายพิธาจะเป็นนายกฯควบ รมว.กลาโหม ก็ต้องไปทำงานกับปลัดกระทรวงกลาโหมและ ผบ.เหล่าทัพ กับสภากลาโหม

“ถ้าบอกว่าจะล้มสภากลาโหม ก็ต้องไปดูว่าจะแก้กฎหมายอะไร ต้องทำกี่ฉบับ ซึ่งเป็นงานที่มันต่อเนื่องในยกที่สาม ยกที่สี่ และยกที่ห้า หรือถ้าจะแก้ 112 จะต้องทำอย่างไร ต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง ต้องแก้กฎมณเฑียรบาลหรือไม่ คราวนี้ก็ต้องไปดูหน้างานแล้ว ซึ่งไม่ใช่ว่าคุณไปสั่งให้เขาทำอย่างนั่นอย่างนี้ แล้วทุกคนเขาจะปฏิบัติตาม มันไม่ใช่ เพราะปลัดกระทรวง เขาก็ต้องทำตามกฎหมาย คุณต้องไปแก้กฎหมายก่อน เพราะหากยังไม่แก้ แล้วมาบังคับให้เขาทำ หากเขาทำตามคุณ เขาก็ทำผิดกฎหมาย”

นพ.พลเดชกล่าวอีกว่า มันมีความซับซ้อนในยกสาม ยกสี่ ยกห้า ปีศาจมันอยู่ในรายละเอียด นี้คือคำที่เขาพูดกัน ปีศาจมันอยู่ในรายละเอียด ทั้งความชั่วร้าย ปัญหา อุปสรรคอะไรต่างๆ มันอยู่ในรายละเอียด มันไม่ง่ายเหมือนกับเราฝันอะไรสักอย่าง คือไม่ดูรายละเอียด ไม่เข้าใจ แล้วไปพูด เพราะตอนพูด คนอาจไม่ได้ดูรายละเอียดกัน ก็สร้างความฝันในอากาศขึ้นมา เพราะไม่ต้องดูรายละเอียด แต่พอเข้าไปทำ มันต้องดูในรายละเอียดแล้ว

หน้าแรก » การเมือง