วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 17:38 น.

การเมือง

"ภัชริ ไทยสร้างไทย" จี้รัฐทบทวนการออกนโยบาย ที่ไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้ประชาชน

วันพุธ ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567, 13.22 น.

"ภัชริ ไทยสร้างไทย" จี้รัฐทบทวนการออกนโยบาย ที่ไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้ประชาชน ยุติโครงการลด แลกแจกแถม หลังหนี้สินเชื่อไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงและสร้างรายเพิ่มพุ่ง ทั้งหนี้รถ หนี้บัตร กลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ของคนไทย  

วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567  นายภัชริ นิจสิริภัช รักษาการโฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงสถานการณ์ หนี้ครัวเรือนไทย ที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมปี 2566 พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหากคำนวณเป็นระดับหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 90.9%  ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่อันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศ

จากการติดตามพบว่าประเทศไทย มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่างจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีรายได้ต่อหัวสูง เช่นสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จะมีหนี้ในลักษณะที่สร้างความมั่นคง สร้างรายได้ ในอนาคตจะมีทรัพย์สินอสังหาฯที่เป็นของตัวเอง ต่างจากหนี้ที่เกิดขึ้นกับคนไทย มีหนี้ที่สร้างความยั่งยืน อยู่ในสัดส่วนไม่ถึงครึ่ง สะท้อนว่าคนไทยมีอสังหา เป็นของตัวเองน้อย แต่กลับมีหนี้ที่เกิดจากการมียานพาหนะอยู่ถึงหนึ่งในสี่ อาจสะท้อนให้เห็นด้วยว่าประเทศไทยยังมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะไม่ดีพอ

" คนไทยยอมเป็นหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ คนไทยวัยทำงาน พอมีเงินหนี้ก้อนแรกๆคือ การผ่อนรถ ผ่อนมอเตอร์ไซค์ เป็นหนี้ที่ก่อเกิดรายได้น้อยมาก เพราะมีค่าเสื่อมสูง" นายภัชริ กล่าว

นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยมีหนี้ที่อันตรายที่สุดนั่นคือหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ในระดับสูง โดยพบว่าการเป็นหนี้ประเภทนี้ง่ายที่สุด มีข้อเสนอเพื่อดึงดูดให้เกิดการเป็นหนี้มากมาย เช่น การออกโปรโมชั่นหรือ Package เชิญชวน ศูนย์เปอร์เซนต์  ทำให้ของบางอย่างที่ไม่จำเป็นก็อยากได้มาครอบครอง โดยสินเชื่อดังกล่าว เมื่อรวมกับสินเชื่อรถยนต์ กลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าหนี้ทั้งหมด

นายภัชริ เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังไม่ดีพอ ทำให้ประชาชนต้องสร้างหนี้ด้วยความจำเป็น ดังนั้นหากภาครัฐ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งมวลชนสาธารณะ ครอบคลุมและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ดีขึ้น ก็จะทำให้หนี้ในสัดส่วนที่น่ากังวลลดลง และมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น สามารถลงทุนหรือสร้างกำลังซื้อเพิ่มขึ้นได้ รัฐก็จะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น 

ขณะเดียวกันผู้ที่เป็นหนี้ต้องมีวินัยการใช้เงินที่รัดกุม เข้มแข็ง เพราะจะช่วยลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่มาจากกิเลสลงได้ รวมถึงรัฐ ต้องพิจารณาออกนโยบาย ที่เน้นสร้างการต่อยอดอย่างยั่งยืน ไม่ใช่มุ่งแต่การแจกเงินที่อาจทำให้คนขาดวินัยได้ โดยต้องให้เบ็ดไม่ใช่ให้ปลา เหมือนที่กำลังพยายามเดินหน้า โครงการดิจิทัลวอลเล็ท 10,000บาท อยู่ในขณะนี้

หน้าแรก » การเมือง