วันเสาร์ ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2567 22:11 น.

การเมือง

"วราวุธ" เผย "พม." เตรียมรณรงค์ หยุดให้ทาน=หยุดการขอทาน ศุกร์ 16 สค.นี้  หน้าหอศิลป์ปทุมวัน

วันอังคาร ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2567, 10.59 น.

"วราวุธ" เผย "พม." เตรียมรณรงค์ หยุดให้ทาน=หยุดการขอทาน ศุกร์ 16 สค.นี้  หน้าหอศิลป์ปทุมวัน ชื่นชมทีมเด็กไทย คว้าอันดับ 4 จากการแข่งขันฟุตบอลโลกของเด็กจากสถานสงเคราะห์ ทั่วโลก ตั้งเป้า คว้าแชมป์ครั้งหน้า  

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาขอทานในประเทศไทยระยะเวลา 10ปีที่ผ่านมา ว่า สถานการณ์ปัญหาขอทาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 – 31 กรกฎาคม 2567 พบผู้ทำการขอทานทั้งสิ้น 7,635 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ทำการขอทานไทย ร้อยละ 65 และผู้ทำการขอทานต่างด้าว ร้อยละ 35 สำหรับปีงบประมาณ 2567 พบผู้ทำการขอทานทั้งสิ้น 506 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ทำการขอทานไทย จำนวน 331 ราย (ร้อยละ 65) และผู้ทำการขอทานต่างด้าว จำนวน 175 ราย (ร้อยละ 35) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2566 ร้อยละ 20.47 ในจำนวนนี้เป็นผู้ทำการขอทานซ้ำ ร้อยละ 24.28 

นายวราวุธ กล่าวว่า พื้นที่ที่พบผู้ทำการขอทานส่วนใหญ่มีลักษณะกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะใน กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา และเชียงใหม่ และในปีงบประมาณ 2567 ยังพบขอทานมากที่สุดในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และลพบุรี และไม่พบผู้ทำการขอทานใน 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี สตูล นครพนม ลำปาง น่าน เพชรบุรี ตาก และพังงา ส่วนสาเหตุการกระทำการขอทาน 1.ข้อจำกัดด้านร่างกาย จิตใจ เกิดจากความพิการทางร่างกายหรือความบกพร่องทางสติปัญญา 2.ปัจจัยด้านการศึกษา ขาดโอกาสในการศึกษาที่จะไปประกอบอาชีพที่มั่นคง 3.ค่านิยมของชุมชนและแรงจูงใจว่าทำรายได้ดีโดยไม่ต้องลงทุน 4.อิทธิพลความเชื่อ การให้เงินขอทานเป็นการทำบุญ โดยปกติคนขอทาน มักมีพฤติกรรมที่น่าสงสาร บ้างมีข้อจำกัดด้านร่างกาย จิตใจ ที่เกิดจากความพิการ หรือความบกพร่องทางสติปัญญา หรือบางกรณีนำไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และความเชื่อมโยงกับการกระทำผิดกฎหมาย

นายวราวุธ กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน สร้างความเข้าใจในการให้ทาน การส่งเสริมทัศนคติใหม่ในการให้ทานของประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการขอทานในสังคมไทย และการให้โอกาสให้คนขอทานได้แสดงศักยภาพของตนเอง ให้สามารถประกอบอาชีพ ใช้ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และได้รับการยอมรับจากชุมชน สังคม ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จัดโครงการรณรงค์สังคม สร้างการรับรู้กฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาส เปลี่ยนชีวิต หยุดคิดก่อนให้ทาน” ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 14.30 น. เป็นต้นไป ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยภายในงาน มีกิจกรรมประกอบด้วยการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างกระทรวง พม. และกรุงเทพมหานคร การประชาสัมพันธ์ผ่านคลิปรณรงค์ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต หยุดคิดก่อนให้ทาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมท่าอากาศยาน และกรุงเทพมหานคร สนับสนุนช่องทางในการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์นี้ 

นายวราวุธ กล่าวว่า และมีภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมการขอทาน อาทิ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เข้าร่วมการเดินรณรงค์แจกสื่อประชาสัมพันธ์ 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษากัมพูชา บริเวณใจกลางสยามสี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 และถนนพญาไท ในวันดังกล่าว ทางกระทรวง พม. ได้จัดชุดปฏิบัติการ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อลงพื้นที่จัดระเบียบผู้ทำการขอทาน จำนวน 5 ชุด และยังมีการจัดระเบียบผู้ทำการขอทานพร้อมกันทั่วประเทศไปพร้อมกันด้วย

ชื่นชมทีมเด็กไทย คว้าอันดับ 4 จากการแข่งขันฟุตบอลโลกของเด็กจากสถานสงเคราะห์ ทั่วโลก ตั้งเป้า คว้าแชมป์ครั้งหน้า 

นายวราวุธ  กล่าวว่า จากกรณีที่กระทรวงพม. ส่งทีมฟุตบอลเด็กไทยจากสถานสงเคราะห์เด็กสังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน ทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยไปร่วมในการแข่งขันฟุตบอลโลกของเด็กจากสถานสงเคราะห์ทั่วโลก ครั้งที่ 9 (The 9th World Cup of Children from Care Home) ระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ จนสามารถคว้าอันดับที่ 4 จากทั้งหมด  27 ทีมจากสถานสงเคราะห์เด็กทั่วโลก

นายวราวุธ กล่าวว่า การแข่งขันดังกล่าว จัดโดยสมาคม Hope for Mundial องค์กรเพื่อสังคม เป็นการช่วยเหลือเด็กจากสถานสงเคราะห์ทั่วโลกให้มีโอกาสได้ทำตามความฝันและได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านกีฬาฟุตบอล ซึ่งกระทรวง พม. ได้รับเชิญให้ส่งทีมฟุตบอลเด็กในสถานสงเคราะห์ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ มีสถานสงเคราะห์เด็กทั่วโลกส่งทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 27 ทีม โดยมีการแบ่งสายการแข่งขันออกเป็น 4 สาย ได้แก่  A, B, C และ D ซึ่งทีมฟุตบอลเด็กไทยอยู่ในสาย C ประกอบด้วย โปแลนด์ สโลวาเกีย อินเดีย โครเอเชีย เยอรมัน และเอสโตเนีย โดยการแข่งขันรอบแรกของสาย C ทั้งหมด 5 นัด ผลปรากฏว่า ทีมฟุตบอลเด็กไทย ชนะ 3 นัด แพ้ 2 นัด มีคะแนนสะสมเป็นลำดับที่ 3 ของสาย C ทำให้สามารถผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบ 16 ทีมสุดท้ายจากทุกสาย จากนั้น ต้องแข่งขันกับทีมฟุตบอลเด็กฮังการี ผลปรากฏว่า ชนะ คะแนน 2-1 ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบ 8 ทีมสุดท้าย ไปพบกับทีมฟุตบอลเด็กบอสเนีย แต่แพ้ ไปด้วยคะแนน 0-1 ทำให้ไม่สามารถผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบ 4 ทีมสุดท้ายได้ ต้องแข่งขันต่อกับทีมฟุตบอลเด็กยูเครน เพื่อชิงอันดับที่ 3 ผลปรากฏว่า แพ้ คะแนน 0-4 ทำให้ทีมฟุตบอลเด็กไทยอยู่อันดับที่ 4 ของการแข่งขั้นครั้งนี้ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ทีมฟุตบอลเด็กไทยได้ทำการแข่งขันอย่างเต็มที่ สมศักดิ์ศรี ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ที่เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก สามารถคว้าอันดับที่ 4 จากทั้งหมด 27 ทีมจากสถานสงเคราะห์เด็กทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อปี 2562 ทีมฟุตบอลเด็กไทยผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่ปีนี้ น้องๆ ทุกคน ทำได้ดีที่สุด สามารถนำทีมเข้าสู่การแข่งขันรอบ 4 ทีมสุดท้าย ซึ่งตนรู้สึกภาคภูมิใจแทนพี่น้องคนไทยในความสามารถของน้องๆ ทุกคน  และต้องขอบคุณทีมงานผู้ฝึกสอนทุกท่านที่ทำงานสนับสนุนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จอีกระดับในครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่าในการแข่งขันครั้งต่อไป ทีมฟุตบอลเด็กไทยจะผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ สามารถคว้าชัยชนะ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับโลกได้
 
 

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง