วันศุกร์ ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:27 น.

การเมือง

“สุพัชรี” รุก ! ถามกระทู้คมนาคม สนามบินพัทลุงได้ใช้กี่โมง รมช.แจงตามไทม์ไลน์ ไกลถึงปี 72 ถึงได้เริ่มก่อสร้าง

วันศุกร์ ที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2567, 16.31 น.

 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา นางสุพัชรี ธรรมเพชร สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามในสภาถึงความคืบหน้าการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุงว่าจังหวัดพัทลุงมีพื้นที่ทั้งหมด 3,424 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา ที่ราบสูง และที่ราบสลับดอน พื้นที่ฝั่งตะวันออกติดทะเลสาบสงขลา มีประชากรทั้งสิ้น 520,455 คน  ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้มาจากภาคบริการ 54.3% ภาคบริการส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  เพราะพัทลุงมีที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม  วิถีชุมชน สายลุย และ สายมู  ทำให้เศรษฐกิจในพัทลุงเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันจังหวัดพัทลุงไม่มีท่าอากาศยาน  ซึ่งทุกภาคส่วนใน พัทลุงมุ่งหวังที่จะให้มีท่าอากาศยานโดยเร็ว   ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ  รวมทั้ง สส.พัทลุง 3 ท่าน จึงมีการตั้ง “พัทลุงทีม” ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนข้อมูลต่างๆ และอำนวยความสะดวก ให้มีท่าอากาศยานพัทลุงขึ้นมาให้ได้
 
นางสุพัชรี กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ตั้งงบดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง  ตั้งแต่ 17 กันยายน 2563 - 13 มิถุนายน 2564 เป็นจำนวน 270 วัน  โดยกรมท่าอากาศยานได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทเอกชนที่ปรึกษา ผลการสำรวจเป็นแนวทางที่ดี คือการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุงมีความคุ้มค่าในการลงทุน  14.7% งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 3,075 ล้านบาท และทางบริษัทที่ปรึกษายังได้ศึกษาถึงขั้นตอนการออกแบบขนาด และองค์ประกอบต่างๆของท่าอากาศยานไว้แล้ว  หลักสำคัญคือรันเวย์ที่มีขนาด 45 × 2,500 เมตร เป็นรันเวย์ที่มีความเหมาะสมที่สุด และออกแบบในเรื่องของลานจอดรถ ทางขับ ทางหยุด ซึ่งมีการออกแบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  โดยมีสถานที่ตั้งคือศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดพัทลุง  พื้นที่ 1,496 ไร่  ตั้งอยู่ที่ ต.ควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นที่ราชพัสดุ  ไม่ต้องเวนคืนจากประชาชน อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร
 
นางสุพัชรี กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ตนได้เข้าร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมกับผู้แทนกลุ่มท่าอากาศยาน มีมติเห็นชอบให้ที่ตั้งศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดพัทลุงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมจะนำมาสร้างเป็นท่าอากาศยานพัทลุง  และให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง เป็นพื้นที่ทดแทนให้กับศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง  ในพื้นที่ประมาณ 510 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุเช่นกัน
 
จึงขอถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสร้างท่าอากาศยานพัทลุง อยู่ในขั้นตอนใด  และเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 จังหวัดพัทลุง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนเร่งรัดการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง เพื่อแสดงถึงความพร้อม และความต้องการที่จะทำให้เกิดท่าอากาศยานพัทลุงให้เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อให้พัทลุงมีความเป็น “ฮับ โลจิสติกส์” ของภาคใต้ เป็นการเชื่อมระหว่างภาคใต้ตอนกลางและภาคใต้ตอนล่าง เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภูมิภาค ทั้งอ่าวไทย และอันดามันขึ้นมาให้ได้ ประกอบทั้งขณะนี้พัทลุงมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เชื่อมระหว่างจังหวัดสงขลา -พัทลุง  เมื่อสะพานสร้างเสร็จแล้วจะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานพัทลุงเป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้ชาวบ้านสอบถามมาตลอดว่า เมื่อไหร่จะได้ใช้สนามบิน จึงต้องมาตั้งกระทู้ถามเพื่อเร่งรัดคำตอบ
 
ด้าน นางมนพร เจริญศรี  รมช. คมนาคม กล่าวตอบว่า หากมีท่าอากาศยานพัทลุง จะทำให้จังหวัดพัทลุงยกระดับจากเมืองรอง เป็นเมืองหลัก เป็นศูนย์กลางการขนส่ง และจะเป็นเมืองที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม ความมั่นคงทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เมื่อปี พ.ศ. 2565 ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างทั้งเรื่องของรูปแบบด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่ตั้ง พบว่ามีความเหมาะสมในทุกมิติ  สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ และ เป็นพื้นที่ ที่ไม่มีท่าอากาศยานพาณิชย์ ที่ตั้งอยู่ในระยะการเดินทางทางถนนไม่เกิน 90 นาที   ปีพ.ศ. 2569 จะมีการจ้างออกแบบรายละเอียดงานก่อสร้างและศึกษารายงานการประเมินผลสิ่งแวดล้อม  ปีพ.ศ. 2570 จะนำเสนอรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  ปี 2571 จะนำเสนอผลการศึกษาทั้งหมดให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อบรรจุลงในแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ และนำเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา และใน ปี 2572 หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จึงจะขอรับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างต่อไป หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาว่า ฝ่ายรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุน หรือ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (PPPs)
  
#ประชาธิปัตย์ #พรรคประชาธิปัตย์ #DemocratPartyTH #สุพัชรีธรรมเพชร

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง