วันอาทิตย์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:34 น.

การเมือง

สตง.ขอโอกาสอธิบาย! ผู้ว่าเปิดใจครั้งแรกเสียใจ พร้อมดูแลทุกครอบครัว  รองฯ แจงชัดทุกขั้นตอนจัดจ้าง

วันพฤหัสบดี ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2568, 17.20 น.

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ย้ำเจ็บปวดกับเหตุการณ์สูญเสีย พร้อมดูแลผู้ได้รับผลกระทบเต็มที่ ขณะรองผู้ว่าเผยเบื้องลึกกระบวนการออกแบบก่อสร้าง แจงสาเหตุที่เข้าใจผิดเรื่องผู้รับเหมา และชี้แจงเหตุจำเป็นต้องปรับแบบปล่องลิฟต์ให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร 

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 หลังเสร็จสิ้นพิธีสวดพระพุทธมนต์ให้กับผู้สูญหาย และผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ประสบภัย ภายในไซต์งานอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถล่ม (สตง.) โดยผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่าอยากพูดอะไรหรือไม่ หลังเกิดเหตุการณ์นี้ ซึ่งนายมณเฑียร ตอบเพียงว่า รู้สึกเสียใจ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ได้พูดอะไรกับครอบครัวผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตหรือไม่ นายมณเฑียร ระบุว่า เราไปงานศพทุกงานที่อยู่ทุกจังหวัด เราส่งเจ้าหน้าที่ไปแสดงความเสียใจ และร่วมทำบุญให้กับผู้เสียชีวิต ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บตนกับผู้บริหารก็ไปเยี่ยมทุกโรงพยาบาลทุกคน

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หลังจากเกิดเหตุครั้งนี้ มีประชาชนมาทัวร์ลงที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเพียงหน่วยงานเดียว อยากจะชี้แจงอะไรหรือไม่ นายมณเฑียร ระบุว่า เราทำงานตลอดเวลา ตอนนี้ชีวิตคนกับเรื่องความสูญเสียเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นจะต้องดูแลเรื่องพวกนี้ก่อนว่า ญาติพี่น้องที่เขาลำบาก และชีวิตคนที่สูญเสียไปเราจะทำอย่างไร

และ ทุกครั้งที่คนของเราไปร่วมงานศพ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ญาติผู้เสียชีวิตก็บอกว่า มีเพียง สตง.ที่เข้าไปดูแลเขา” ส่วนผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาล เราก็ถือโอกาสไปเยี่ยม และได้พูดคุยกับพวกเขา โดยพวกเขาก็เข้าใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาพูดกับเรา ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำในวันนี้คือเราจะดูแล ซึ่งในส่วนของญาติเราได้ประสานใช้ล่ามที่ทำงานประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง พาญาติพวกเขาไปติดต่อตรวจ DNA และติดต่อเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ และเป็นสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่วันเกิดเหตุ ผมก็อยู่ที่นี่แหละ อยู่ตั้งแต่วันแรก ว่างก็มา วันแรกที่มาก็กลับถึงบ้านเที่ยงคืน ผมก็เดินผ่านน้องๆ กันทุกวัน ผมก็มาที่นี่แหละ” นายมณเฑียร กล่าว

ส่วนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะแถลงอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ก็คาดว่าจะแถลงในเร็วๆ นี้ เพราะตอนแรกเรารอคณะกรรมการสอบสวนของรัฐบาล แต่เมื่อเขาเลื่อนแถลงไป เราก็ต้องรอกำหนดวันใหม่ ว่าจะแถลงวันไหน

ส่วนกรณีที่มีการเปิดเผยชิ้นส่วนของเหล็กเส้นของบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ที่ตกมาตรฐาน ที่เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของโครงสร้างอาคาร สตง. นายมณเฑียร ไม่ได้ตอบคำถาม ก่อนเดินออกไปทันที
 
อย่างไรก็ตามนายมณเฑียร กล่าวด้วยว่า จะดูแลอำนวยความสะดวกญาติของผู้ได้รับผลกระทบทุกคนอย่างดี ส่วนเรื่องการตรวจสอบนั้น ทาง สตง. มีแผนที่จะแถลง หลังจากคณะกรรมการสอบสวนของรัฐบาล แถลงผลการตรวจสอบ ซึ่งต้องรอกำหนดวันที่แน่นอนอีกครั้ง 

"รองผู้ว่าฯ สตง." แจงเข้าใจแต่แรกว่า "บ.อิตาเลียนไทย" สร้างตึกผู้เดียว 
 
ขณะที่ในการประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ โดยมีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ เป็นประธาน พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงกรณีงบประมาณการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว โดยผู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มอบหมายให้ นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ และ นางพิมพา วภักดิ์เพชร รองผู้ว่าสตง. เข้าชี้แจงแทน นอกจากนี้ยังมี กรมบัญชีกลาง กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมสอบสวนคดีพิเศษ สภาวิศวกร การสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย

ในวาระแรก เป็นการติดตามแผนงบประมาณ การก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด้านนายสุทธิพงษ์ กล่าวชี้แจงเป็นลำดับแรกว่า ถ้ารู้ถึงสาเหตุติดถล่มคืออะไรจะง่ายมากต่อการหาคนผิดอย่างมาก แต่วันนี้ยังไม่สามารถตอบได้ จึงบอกได้เพียงว่า สตง. ได้ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งพร้อมจะตอบคำถามทุกเรื่องที่ทุกคนสงสัย

โดยได้มีการอธิบายถึงรายละเอียดงบประมาณ ว่าเป็นตึกสูงพิเศษตามกฎหมายควบคุมอาคาร มีการจ้างออกแบบด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท การควบคุมงานเป็นกิจการร่วมค้าในวงเงิน 74 ล้านบาท จาก บริษัท PKW และผู้รับจ้างก่อสร้าง ระหว่าง อิตาเลียนไทยและไชน่าเรลเวย์ ซึ่งมี เวลาก่อสร้าง 1080 วัน (เริ่ม 15 ม.ค. 64-31 ธ.ค.66) จากนั้นมีการขอขยายขยายเวลา 2 ครั้ง ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2567 เนื่องจากมีการปรับแก้ไขสัญญา และจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ กำหนดเสร็จ 14 มิถุนายน2568

ส่วนเหตุผลที่ต้องสร้างเป็นตึกสูงนั้น นายสุทธิพงษ์ แจงว่า เรามีหน่วยหน่วยงาน ภายในสตง. มี 50 หน่วยงาน มีบุคลากรส่วนกลาง 2400 คน จึงต้องใช้พื้นที่ใช้สอย 82,000 ตารางเมตร

นายสุทธิพง์ ได้ชี้แจงทำรายการจัดซื้อจัดจ้างเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ที่บริษัท ฟอ- รัม อาร์คิเทค จำกัดและบริษัทไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ได้คะแนนการออกแบบสูงสุดคือ 91.12 คะแนน เป็นผู้รับออกแบบอาคาร ลงนามสัญญาจ้าง 09 ต.ค. 2561 ต่อมาทางผู้ว่า สตง. ได้อนุมัติจัดจ้างการออกแบบ ด้วยวิธีการคัดเลือก และแต่งตั้งคณะกรรมการ ดำเนินการจ้างการควบคุมงาน ซึ่งมีบริษัทมายื่นเสนอ 5 รายด้วยกัน

ต่อมาทาง สตง. มองว่าการก่อสร้างอาคาร มีวงเงินราคากลางสูงถึง 2,500 ล้านบาท จึงได้เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม และทำการจัดซื้อจัดจ้างแบบใหม่ โดยใช้วิธีการจัดจ้างก่อสร้าง e-bidding และนำร่างไปประกาศ มีผู้สนใจซื้อเอกสารทั้งหมด 16 ราย มีผู้ยื่นเสนอราคาเพียง 7 ราย โดยกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี เสนอราคาที่ 2,136 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งทาง สตง.ได้สอบถามถึงการก่อสร้างว่าจะทำอย่างไรในราคานี้ทางบริษัทชี้แจงว่ามีเทคโนโลยีแบบใหม่สามารถทำได้

นายสุทธิพงษ์ยืนยันว่า ทุกขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความโปร่งใส เพราะตกลงตามหลักการคุณธรรม โดยมีค่าตอบแทนให้กับผู้ที่มาเป็นกรรมการข้อตกลงคุณธรรมปีละ 200,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี

 ความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ มีการเบิกค่างวดตั้งแต่ครั้งที่ 1-22 รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 966,792,280 บาท และความคืบหน้าที่ควรจะเป็นคือ 80.77% แต่วันที่ 17 มีนาคม 2568 กลับมีผลงานที่ทำคือ 33.70%

นายสุทธิพงษ์ ยัง กล่าวถึงความเข้าใจที่ผู้รับเหมาก่อสร้างในการประมูลโครงการก่อสร้าง บริษัทอิตาเลียนไทยเป็นผู้ชนะการประมูล โดยทางบริษัทได้มีการยื่นผลงานการก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลงานของบริษัทอิตาเลียนไทยจึงทำให้ทาง สตง.เข้าใจว่าผู้ดำเนินการก่อสร้าง เป็นบริษัทอิตาเลียนไทยเป็นหลัก ไม่ใช่บริษัทไชน่าเรลเวย์ ที่เข้ามาก่อสร้าง จนเกิดเหตุการณ์ตึกถล่มขึ้น

ด้านนายสุทธิพงษ์ รายงานว่าจุดแกนกลางของลิฟต์ (Core Lift) มีการปรับแก้แบบเพราะบริเวณจุดดังกล่าวมีทั้งทางเดินหลัก และทางเดินรอง โดยการออกแบบทางเดินหลักต้องกว้าง 2 เมตรตามกฎหมาย ซึ่งการก่อสร้างและปูกำแพงหินอ่อนเสร็จแล้ว จะทำให้พื้นที่ทางเดินหายไปข้างละ 5 เซนติเมตร เหลือความกว้างเพียง 1.90 เมตร ส่วนทางเดินรองเหลือความกว้างเพียง 1.40 เมตร ซึ่งผิดกฎหมายการก่อสร้าง หรือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จึงได้ทำเรื่องทั้งหมดให้มีการปรับเปลี่ยนให้งานก่อสร้างเป็นไปตามแบบ มีการปรับเปลี่ยนแบบ และได้ส่งกลับมาให้ผู้ว่าจ้างทำการตรวจสอบ โดยมีวุฒิวิศวกรเป็นผู้เซ็นรับรองให้แบบ

ส่วนสาเหตุที่ตึกถล่ม ตรงนี้ตนก็อยากตั้งคำถามว่าเพราะอะไรถึงถล่ม นี่เป็นสถิติระดับโลกที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ตอนนี้การสอบสวนต้องรอคณะกรรมการหลายส่วน ซึ่งตนยังต้องรอต่อไปอีก 90 วันก่อน เพราะกรมโยธาธิการและผังเมือง อาจจะนำแบบอาคารไปทำโมเดลทดลองเหตุการณ์แผ่นดินไหว มาประกอบการสอบสวน พร้อมยืนยันว่าตั้งแต่เกิดเหตุได้ให้เอกสารกับหน่วยงานที่เข้าตรวจสอบทุกหน่วย อย่างที่มร กมธ.นี่ก็รวมกว่า 4 วงแล้ว

พร้อมเล่าว่า ในวันที่เกิดเหตุ มีสายโทรศัพท์เข้ามาที่เลขาตนแล้วบอกว่าตึกถล่ม จากนั้นตนเดินทางไปที่เกิดเหตุฝุ่นก็ยังไม่หายฟุ้ง แล้วอุทานในใจว่า “นี่มันทำเหี้ยอะไรวะ“

กล่าวต่อว่า เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น สตง. ได้มีการแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ดำเนินการตามหน้าที่ โดยมีวงเงินประกันภัยทั้งหมด 2136 ล้านบาท และเป็นประกันภัยชีวิต 100 ล้านบาท ประกันความเสียหายพื้นที่โดยรอบ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ยังยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ สตง. อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุทุกวัน สงกรานต์ วันหยุดก็อยู่ อีกทั้งตั้งแต่เกิดเหตุมีการตั้งศูนย์ประสานงานล่าม เพื่ออำนวยความสะดวก เงินที่มีการเรี่ยไร แล้วเป็นกระแสที่ออกไปในโซเชียลมีเดียนั้น ก็ได้นำมามอบให้กับเคสที่มีผู้เสียชีวิตรายละ 10,000 บาท ให้ สตง. จังหวัดเข้าไปเป็นเจ้าภาพในงานสวดพระอภิธรรม ส่วนผู้ที่บาดเจ็บให้เป็นกระเช้า และเงินเยียวยา 5,000 บาท

นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงการสร้างสำนักงานใหม่ว่าคงต้องใช้งบประมาณที่คงเหลือในการก่อสร้างต่อไป แต่จะไม่ใช้พื้นที่เดิม ไม่ใช่ตึกสูงเหมือนเดิม แต่ ถ้าใช้พื้นที่จากการเช่าการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยที่ด้านหน้าสถานที่เดิมอีก 4 ไร่ พร้อมแก้แบบเป็นแนวราบ กว่า 50x100 เมตร ไม่ต้องมีอะไรทันสมัย แอร์ธรรมดาเสียจะได้ซ่อมง่าย แต่ต้องใส่ความทันสมัย และเทคโนโลยีในการทำงาน

ขณะที่เรื่องเสา นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยช่วงหนึ่งว่ามีคำสั่งจากสำนักงานใหญ่ของ สตง.ตั้ง 3 ทีมงาน ไปตรวจสอบโครงสร้างตึกดังกล่าว ก่อนจะมีการตรวจโครงสร้างงวดที่ 23 จึงได้ข้อสังเกตมาให้แก้และปรับ เนื่องจากยังไม่ได้เนื้องาน ขณะที่การเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม สตง.ไม่ถูกคัดเลือกโครงการ แต่เราอยากสร้างความโปร่งใส จึงขอความร่วมมือจากองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ACT) เพื่อดึงโครงการของเราเข้าสู่ข้อตกลงคุณธรรมในช่วงที่บริหารสัญญา

นายสุทธิพงษ์ ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นคณะของตนเอง หรือคณะตรวจรับผู้ควบคุมงานได้เข้าไปดูพื้นที่ สตง. ตรวจใคร เราจะทำมากกว่าที่เราตรวจ เพราะเราผิดเมื่อไหร่ทัวร์มันจะลงมากกว่าปกติ มันผิดจรรยาบรรณ

“ถ้าผมจะสร้างบ้านเพื่อให้บ้านล้มทับคนของผม 2,400 กว่าคน ผมต้องเอาอำมหิตเบอร์ไหน ถ้าการออกแบบครั้งนี้เกิดจากความเผลอเรอ หรือประมาท ท่านกำลังจะฆ่าคน 2,400 คนนะครับ เคยมีคนกล่าวไว้ว่า แผ่นดินไหวไม่เคยฆ่าคน คนออกแบบนี่แหละเป็นคนฆ่าคน“
 

หน้าแรก » การเมือง